The Beginning of Life: ชีวิตที่เริ่มต้นให้ดีได้

11:04 PM NidNok Koppoets 0 Comments

The Beginning of Life

(2016, Brazil, Estela Renner)





เพิ่งดูเรื่องนี้ใน Netflix ที่กดเข้าไปเพราะแพ้รูปโปรโมทที่เป็นเด็กจิ๋วน่ารัก และเพิ่มเติมความรู้เผื่อวันนึงมีลูก แต่พอเห็นเครดิตก่อนเริ่มหนัง เลยได้รู้ว่าเป็นหนังที่สปอนเซอร์โดย Unicef เพื่อสร้างความเข้าใจให้คนเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาเด็กในช่วง Early year (ภาษาไทยมันจะใช้คำว่าอะไรวะ แบบปฐมวัยเหรอ หรือทารก หรือยังไงวะ) รูปแบบก็เป็นสารคดี ที่ฉายให้เห็นภาพของเด็กและครอบครัว ต่างภาษา วัฒนธรรม สถานะทางสังคม ทั้งรวยมาก จนมาก ชนชั้นแรงงาน เกย์ แม่ที่ท้องในวัยเรียน ฯลฯ ตัดสลับกับบทสัมภาษณ์ของนักวิชาการด้านพัฒนาการเด็ก, นักจิตวิทยาเด็ก ฯลฯ โดยทั้งหมดทั้งมวลนั้นทำขึ้นเพื่อนำไปสู่บทสรุปเดียวที่ว่า เรามาช่วยกันสร้างสังคมที่ดีเพื่อเด็กๆ กันเถิด

หนังค่อนข้างมีโทนในการนำเสนอเป็นแง่บวกแหละ เพราะมันสร้างโดยยูนิเซฟอ่ะเนอะ ขนาดตามสลัมที่ดูจะหาความหวังไม่ได้ หนังยังเล่ามันในโทนสว่าง แล้วทิ้งช่องเอาไว้เล็กๆ ว่าที่แห่งนี้ก็ต้องการความช่วยเหลือจากพวกยูนะ แต่นอกนั้นมันเป็นการให้ความหวัง เน้นให้เห็นว่าในกระบวนการเติบโตของเด็กหนึ่งคนนั้นพวกเขาต้องการอะไรบ้าง (แน่นอนว่าไม่ใช่วัตถุพวกของเล่น ไอแพด อาหารเสริม) พ่อแม่จะมีบทบาทในการกล่อมเกลา และใช้โอกาสทองในช่วงสามขวบปีแรกของชีวิตเพื่อพัฒนาเด็กได้อย่างไร และที่สำคัญคือ สังคมมีส่วนอย่างมากต่อการเติบโตของเด็ก เพราะเด็กคือสมบัติของสังคม คือความหวังของสังคม

ดูบางช่วงแล้วคิดถึง Where to invade next เรื่องระบบการศึกษาของที่ฟินแลนด์ แล้วก็คิดถึงร่างรัฐธรรมนูญของบ้านเรา ที่เพิ่มการเรียนฟรีช่วงปฐมวัย ผลักดันให้เด็กเข้าระบบการศึกษาตั้งแต่สามสี่ขวบ ซึ่งมันย้อนทางกับสิ่งที่หนังพยายามจะสื่อ เด็กในช่วงนี้ไม่ต้องการอะไรเลยนอกจาการเล่น และการดูแลพวกเขาอย่างเต็มที่จากพ่อแม่ หรือคนในครอบครัว การพูดคุยกับพวกเขาเยอะๆ การปล่อยให้พวกเขาได้เล่นอย่างอิสระต่างหากที่สร้างเซลล์ในสมองจำนวนมหาศาล ซึ่งเรื่องนี้ไม่น่าจะใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร เพราะขนาดคนง่อยๆ ไม่ค่อยได้เสพอะไรมากอย่างเรา ยังคุ้นตาคุ้นหูว่าเคยได้อ่าน ได้ยินมาแต่ไหนแต่ไร แต่ก็นั่นแหละ ในบางสังคมอาจจะต้องการปกครองและควบคุมสมองของคนให้เร็วๆ หน่อย จะได้ไม่ดื้อกันมาก

คนที่มีลูก หรือกำลังจะมีลูก ดูแล้วคงได้อะไรเยอะเลย ที่สำคัญ เด็กๆ น่ารักมาก

0 comments: