Tsukiji Wonderland: พลังอันล้นพ้นของผู้คนในสึกิจิ

12:25 PM NidNok Koppoets 0 Comments

Tsukiji Wonderland | 築地ワンダーランド
(2016, Shotaro Endo, A++)



กลายเป็นหนังที่เรานั่งร้องไห้ปาดน้ำตาป้อยๆ ตลอด 20 นาทีสุดท้าย ไม่รู้ว่าเป็นเพราะฮอร์โมนแกว่ง เพราะหิวอยากกินซูชิ หรือเพราะอิจฉาพลังอันล้นพ้นของผู้คนที่พบเห็นในหนังกันแน่ แต่เรารู้สึกกับเรื่องราวเหล่านั้นมาก

ช่วงแรกยังมีความตามหนังไม่ทันเท่าไหร่ แบบเฮ้ยๆ มึงทำไมไปเร็วจัง ไม่อารัมภบทอะไรหน่อยเลยเหรอ มาถึงก็ขายปลาเลยเหรอ (ถ้าพ้นจากช่วงอ้อยอิ่งโชว์วิวกรุงโตเกียวไปแล้วน่ะนะ) แต่พอเริ่มปรับตัวได้ก็โอเคและเพลิดเพลินละ หนังเล่าเรื่องเป็นหัวข้อๆ เหมือนกับบทในหนังสือ แม้จะรู้สึกว่าประเด็นในหนังมันเยอะแยะไปหมด และในบางช่วงก็ไม่ได้เชื่อมต่อกันอย่างเรียบลื่นมากนัก แต่ก็ไม่ได้ถือเป็นอารมณ์อะไรนะ เพราะสุดท้ายพอมันเล่ามาจนถึงจุดนึงที่งานอารมณ์ของเราจนได้ที่ จนต้องเสียน้ำตา อ่อ สุดท้ายแล้วท่ามกลางประเด็นหลากหลาย สิ่งที่สำคัญที่สุดอันเป็นหัวใจก็คือ คน ตลาดสึกิจิที่ยิ่งใหญ่ มีชีวิตชีวาได้ก็ด้วยผู้คนนับหมื่นที่อยู่ในนั้น ผู้คนอีกนับแสนที่อาจเคยแวะเวียนไปที่นั่น และผู้คนอีกนับล้านที่ทานอาหารที่ถูกคัดและขายจากที่นั่น

ถ้าได้ดู Jiro Dreams Of Sushi (2011) มาก่อน น่าจะยิ่งทำให้เราดื่มด่ำและดิ่งไปกับวัฒนธรรมอาหารการกินของญี่ปุ่นได้อร่อยขึ้น จำได้ว่าตอนที่ดูจิโร เราเซอร์ไพรส์กับความซับซ้อนเกินจินตนาการของเราไปมากของอาหารที่ปั้นเป็นคำๆ ดูเรียบง่าย และเรื่องราวเบื้องหลังมึงเยอะเหลือเกินนะเจ้าซูชิ แต่พอย้ายจากเรื่องหน้าครัว และความมุ่งมั่นสุดเนิร์ดของลุงจิโร่ มาสู่ Tsukiji Wonderland ทีพาไปในขั้นวัตถุดิบละ ก็เจอว่า อ้าว นี่มึงเนิร์ดกันทั้งตลาดเลย ความรักและหลงใหลในอาชีพที่ทำนั้นเหมือนไหลเวียนอยู่ในกระแสโลหิต แค่ขายปลาทำไมต้องรู้จักปลาเหมือนเป็นญาติสนิท แค่ขายปลาทำไมต้องรู้จักลูกค้าทุกคนที่ซื่อปลาของเรา แค่ตลาดขายปลาทำไมต้องมีห้องสมุดเอาไว้หาความรู้เรื่องปลา และเก็บประวัติศาสตร์ไปได้ แล้วขายปลาทำไมไม่โฟกัสที่กำไร แต่ขายเพื่อดำรงไว้ซึ่งจิตวิญญาณ ทำไมมมมมมมม

เข้าใจว่าสิ่งที่ได้เห็น ได้ยิน จากผู้คน มันก็ได้ผ่านกระบวนการเพิ่ม ลดทอน ตัด คัดเลือก อันเป็นธรรมดาของหนังซักเรื่องอยู่แล้ว ถ้าไม่ใช่ญี่ปุ่น เราอาจจะมีความกังขามากหน่อย ว่าแหม พวกแกจะจริงจังอะไรเบอร์นั้น แต่พอเป็นญี่ปุ่นเนี่ย ต่อให้มันผ่านเทคนิคการบิลด์จนความทุ่มเทนั้นมันมีขนาดใหญ่ไปมาก แต่เราก็ยังยินดีจะเชื่อ เพราะมันเป็นญี่ปุ่นไง ญี่ปุ่นนนนนน

มานึกดู ตอนที่อินจัดจนร้องไห้ มันคือช่วงที่สัมภาษณ์คุณพี่พ่อค้าปลาที่ตลาดอุระยาสุ จังหวัดชิบะ คุณพี่เขาบอกว่า เขาเครียดทุกครั้งเวลาไปสึกิจิ เขารู้สึกว่ามวลพลังในตลาดนั้นมันมหาศาล แล้วสิ่งที่เขาแบกกลับมามันไม่ใช่แค่ปลาที่เอามาขายต่อในฐานะที่เขาเป็นพ่อค้าปลีกละ แต่มันคือความหวัง คือความรู้ คือเรื่องราวเบื้องหลังปลาแต่ละตัวที่พ่อค้าในสึกิจิมี เขาต้องถ่ายทอดสิ่งนี้ให้ลูกค้าได้รับรู้ จึงจะถือว่าเขาทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ ภาพที่เห็นในหนัง คือคุณพี่คนนี้จะพยายามเล่นมุก สอดแทรกความรู้เกี่ยวกับอาหารทะเลให้กับลูกค้าที่แวะเวียนมา (ซึ่งลูกค้าอยากฟังรึเปล่าก็ไม่รู้แหละ) อย่างตั้งใจมากๆ แบบ โอ้โหพี่ ทำไมภาระที่พี่แบกไว้มันยิ่งใหญ่ขนาดนี้

มันเหมือนกับไอ้ความตั้งใจพวกนี้มันไหลเวียนอยู่ในตัวปลา พ่อค้าสายส่งก็ตั้งใจจะพรีเซนท์ปลาแต่ละตัวให้ดีที่สุด ให้ได้ราคาที่ดีที่สุด เพราะชาวประมงเขาเสี่ยงชีวิตไปหาปลามา เขาจะทำให้ชาวประมงผิดหวังไม่ได้ พ่อค้าคนกลางก็ต้องแข่งขันกันหาปลาที่ตอบโจทย์ลูกค้าของตัวเองให้ได้ เพราะลูกค้ามอบความไว้วางใจให้พวกเขาแล้ว ก็ต้องทำให้เต็มที่ พอเชฟร้านอาหารรับปลาไป ก็ต้อตั้งใจปรุงเนื้อปลาเหล่านั้น ให้ได้รสชาติที่สมบูรณ์แบบที่สุด เพราะเขารู้ว่ากว่าจะได้ปลาตัวนึงมาวางในจานมันผ่านความตั้งใจของคนจำนวนมาก และต้องให้เกียรติปลาอีก มีตอนนึงที่เชฟพูดถึงปลาชนิดนึง แล้วบอกว่า เราต้องปรุงให้คนได้รับรสชาติของ 4 ฤดูกาลที่ปลาตัวนี้มันผ่านมา เรื่องราวมันอยู่ในเนื้อปลา โอ้โห ละเอียดอ่อน พิถีพิถัน ต่อไปนี้ไม่อาจกินซูชิแบบทิ้งๆ ขว้างๆ ได้อีก (อ่อ เพราะเห็นคุณค่าของเนื้อปลา /เปล่า มันแพงโว้ย!)

เมื่อหลายปีก่อนเคยติดใจคำพูดนึงที่อ่านเจอในหนังสือ ว่าคนเมืองสมัยนี้หยาบ เราไม่เคยรู้ว่าที่มาของของกินเรามาจากไหน มันเดินทางมายังไง เราก็แค่กินมันเข้าไปแล้วจบ เรารู้สึกทั้งเข้าใจและไม่เข้าใจ จนระหว่างดูเรื่องนี้ ก็นึกถึงคำพูดนี้ขึ้นมา เลยพอจะนึกภาพออกถึงความ "ไม่หยาบ" ที่คนพูดสิ่งนั้นหมายถึง ความละเอียดอ่อนในอาหารไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในสวนหลังบ้านสุดออแกนิกส์ แต่มันอยู่ในตลาดใหญ่โคตรแมสแบบนี้ได้ กว่าจะเป็นอาหารหนึ่งคำที่เรารับเข้าปากไป ต้องผ่านความใส่ใจ การเรียนรู้ การทุ่มเทของคนจำนวนมากแค่ไหน อย่างน้อยที่สุด แม้การดูหนังเรื่องนี้จะไม่ได้ทำให้เราลดอาการแดกหนัก แดกด่วน แล้วมารื่นรมย์แอพพรีชิเอทกับรสชาติอาหารอะไรขนาดนั้น แต่อย่างน้อยใจเราก็ละเอียดขึ้นนิดนึง เมื่อเริ่มมองเห็นว่า อาหารมันไม่ใช่แค่ปัจจัยสี่ที่เรากินเข้าไปเพื่อให้มีชีวิต แต่ชีวิตต่างหากที่ไหลเวียนอยู่ในอาหาร สิ่งที่สะท้อนวัฒนธรรมของที่ใดๆ ได้ดีที่สุดสิ่งหนึ่งก็คืออาหาร

และญี่ปุ่นที่เรามองเห็นในอาหารของพวกเขานั้น งดงามที่สุด

0 comments: