พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ


พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ

(2559, วีรพร นิติประภา, สำนักพิมพ์มติชน) 


 
ตรงหน้าคือทีวีที่ยังเล่นฉายภาพและเพลงซ้ำๆ ในช่วงนี้ เสียงเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงจากบ้านหลังตรงข้ามดังลั่นแม้นั่นจะเป็นเวลาใกล้สองทุ่มแล้ว หยิบหนั
งสือสีไม่ดำสนิท ที่ปกมีรูปถ่ายน่าสนใจขึ้นมาอ่าน ท่ามกลางความโช้งเช้งที่รบกวน สุดท้ายอ่านไปได้ไม่ถึงบทดีก็ต้องยอมแพ้ คิดว่าคงไม่ถูกโฉลกกับเล่มนี้แน่ๆ

พอสามทุ่มกว่าน้ำอาบจนตัวหอมด้วยกลิ่นสบู่ราคาถูกที่เราชอบ แล้วจึงนั่งบนเก้าอี้โยกที่อุตส่าห์เก็บเงินซื้อมาเพื่อเอาไว้นั่งอ่านหนังสือโดยเฉพาะ ก่อนที่สองสามเดือนหลังจากนั้นจะย้ายไปนั่งขดบนโซฟาแข็งๆ ที่คอนโดเพื่ออ่านหนังสือแทน เก้าอี้โยกตัวนี้จึงเป็นเหตุผลลำดับต้นๆ เสมอที่ทำให้อยากกลับบ้านในวันหยุด เสียงเคาะคีย์บอร์ดก๊อกๆ แก๊กๆ จากเอกชัยที่นั่งง่วนทำงานอยู่บนโต๊ะใกล้ๆ ไม่ได้รบกวนเรามากนัก จากนั้นจึงให้โอกาสหนังสือปกดำเล่มเดิมอีกที เริ่มอ่านใหม่ตั้งแต่ต้น พลิกหน้ากระดาษคอยเอ็นดูหนูดาวและยายศรี โดยไม่รู้เลยว่าพอพลิกหน้าเริ่มสู่บทต่อไป เราจะเหมือนนั่งอยู่บนรถไฟเหาะที่กำลังไหลลงเบื้องล่างอย่างรวดเร็วแบบที่เราคว้าเกาะอะไรได้เราก็เกาะ รถไฟพาเราไหลลงสู่ความทรงจำอันไม่ปะติดปะต่อ ขาดวิ่นครึ่งๆ กลางๆ แต่ถึงอย่างนั้นก็เศร้าจนอดจะร้องไห้ไม่ได้ไปหลายหน เราเหมือนเป็นดีเจอพี่อ้อยที่มีคนโทรมาเล่าเรื่องเศร้าให้ฟังแบบไม่ได้หยุดพัก เป็นเรื่องเศร้าที่เราเข้าไปช่วยแก้อะไรไม่ได้ เพราะมันได้เกิดและจบไปแล้ว เขาแค่เล่าให้เราได้ทอดถอนหายใจ ได้หม่นหมอง ก่อนจะพาเข้าสู่เรื่องเศร้าเรื่องใหม่ ใจคอทำด้วยอะไรกัน

ระหว่างอ่านก็มีภาพแว้บขึ้นมา เป็นตัวเราตอนเด็กๆ ในบ้านไม้ของคุณตาที่ระนองที่กลายเป็นของคุณป้าใหญ่ไปอีกที แม่เปิดอัลบั้มภาพเก่าๆ แล้วเล่าเรื่องโน้นนี้ให้เราฟัง เล่าว่าแต่ก่อนอาก๋งมาจากไหน คุณตาทำโรงไม้หรืออะไรซักอย่าง แล้วก็มีผิดใจกันระหว่างพี่น้อง เลยแยกย้ายกันทำธุรกิจนับจากนั้น คุณยายแต่งงานตั้งแต่อายุสิบสองและมีลูกเก้าคน แม่ในตอนเด็กและพี่น้อง เลยมาจนถึงรุ่นลูกของพี่น้องแม่อีกที ทั้งหมดนี้เป็นประวัติศาสตร์ของคนธรรมดา ที่มีเพียงภาพถ่ายและเรื่องเล่าเท่านั้นที่จะบันทึกไว้ ไม่มีใครจะเสียเวลามาสืบเสาะ ค้นหา และบันทึกประวัติศาสตร์ของครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวหนึ่งจากเป็นสิบเป็นล้านครอบครัว เราจึงต้องเล่าสืบกันไปอย่างนี้ แม้บางทีเรื่องเล่าของเราจะเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ ประกอบภาพเหตุการณ์ใหญ่ๆ ที่เห็นในหนังสือประวัติศาสตร์กระแสหลัก แต่มันก็จะไม่ได้สำคัญอะไร เป็นเพียงชิ้นส่วนที่มองไม่เห็น เป็นเรื่องเล่าที่อาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ เป็นสีสันให้ประวัติศาสตร์เหล่านั้นสนุกขึ้นเล็กน้อย พอให้ขำขันแล้วคนก็จะลืมไป จนเมื่อไหร่ที่เกร็ดเล็กน้อยพวกนี้ได้เข้าไปอยุ่ในหนังสือตำรานั่นล่ะ คนเขาถึงจะสนิทใจและเชื่อบูชา

เรื่องเล่าของครอบครัวนายตงบนแผ่นดินสยามทำให้เรานึกถึงตอนที่ให้อากงของเอกชัยเล่าถึงบ้านที่เมืองจีนให้ฟัง ตอนนั้นคิดแค่ว่าสนุกดี แต่ระหว่างอ่านเล่มนี้ความรู้สึกก็เพิ่มเติมขึ้น ที่ผ่านมาเรามองจากสายตาของคนรุ่นที่ความเป็นคนไทยแทบจะถูกกลืนเป็นเนื้อเดียว เรารู้ว่าเพื่อนมีเชื้อสายจีนจากที่มันเรียกพ่อว่าป๊า เรียกปู่ว่าอากง นอกนั้นเราก็ตั้งโต๊ะไหว้วันสารทจีนด้วยการเสิร์ชหาในอินเตอร์เน็ต และแชร์ข่าวพฤติกรรมตลกๆ ที่เกิดในเมืองจีนเหมือนกัน หนังสือเล่มนี้จึงทำให้เราได้เข้าใจความคิดของคุณก๋ง คุณตาเราอีกนิด เรื่องราวคงไม่ได้ซ้ำกับนายตงเขาหรอก แต่มันคงมีความขมข่นบางอย่างที่รสชาติไม่ต่างกันนัก

อันที่จริงผู้อ่านถือว่าได้รับความปรานีจากคุณวีรพรผู้เขียนมากแล้ว เพราะอย่างน้อยเราก็ได้รับรู้ชะตากรรมของหลายตัวละครไปจนถึงจุดจบ ปิดม่านฉากชีวิตของตัวละครนั้นๆ ไปแบบไม่ต้องเหลือให้คาใจ แต่กับตัวละครที่มีชีวิตอยู่ในเรื่องนั้นกลับไม่ได้รู้ชะตากรรมของคนที่ผ่านเข้ามาเกี่ยวพันในชีวิตว่าสุดท้ายแล้วเราไปอยู่ไหน เป็นอย่างไร เหมือนเราในตอนนี้ ที่ถ้าเกิดนึกถึงชื่อเพื่อนสมัยประถมขึ้นมาได้ ก็จะเอาชื่อไปค้นหาจนเจอเฟซบุ๊กแล้วเข้าไปส่องดูว่าเขามีชีวิตที่สบายดี บางทีคนเราจากกันไปโดยไม่ได้ชำระสิ่งที่คาใจต่อกัน ไม่ได้ติดตามข่าวสารชีวิตของกัน เหมือนกับว่า ภาพสุดท้าย เสียงสุดท้าย ที่เราได้เห็นคนคนนั้น นั่นคือสุดสิ้นสุดชีวิตของเขาสำหรับเราไปแล้ว เราตายจากโดยไม่ได้เข้าใจต่อกันอย่างถ่องแท้ โกรธเกลียดกันข้ามชาติเลยก็มี ทั้งที่แค่อินบ็อกซ์ไปขอโทษขอโพย หรือนัดเจอเพื่อปรับความเข้าใจในร้านดีนแอนด์เดลูกาก็น่าจะทำให้เราไม่ต้องมีอะไรติดค้างใจกันไปได้

ผิ่งมุ่ยและจดหมายสิบหกหน้าจึงสะเทือนใจมากสำหรับเรา

ในสุดท้ายที่หนังสือให้ความหวังและทำลายมันซ้ำแล้วซ้ำเล่า เหมือนให้เราเดินถอยหลังจนไม่รู้จะถอยยังไงเพราะด้านหลังเป็นกำแพงดำทึบ แต่ยังมีความหวังอยู่หน่อยเพราะยังพอมองเห็นช่องประตูที่มีแสงสาดเข้ามา หนังสือกลับจบลงโดยปิดประตูนั้นทิ้งเสีย เรามีความหวังทุกครั้งที่ได้เห็นชีวิตกำเนิดใหม่ เด็กน้อยจะเป็นตัวแทนของอนาคตเสมอ ดังนั้นแม้เรื่องมันจะเศร้า แต่มันก็ยังหลงเหลือความหวังไว้ให้เราทุกครั้ง ผ่านฮง ผ่านจรัสแสง ผ่านระพินทร์ ระริน และหนูดาว แต่เมื่อหน้ากระดาษสุดท้ายสิ้นสุด เราก็พบว่าตัวเราอกหักเสียยิ่งกว่าตอนที่ไปบอกชอบผู้ชายแล้วเขาไม่ชอบกลับ โดนทำลายความหวังจนหมดแรง ขนาดสิ่งสุดท้ายที่เหลือ ที่เป็นความชุ่มชื่นใจมาตั้งแต่ต้น ยังโดนพรากเอาไปถึงขนาดนี้ นี่เราจะอ่านหนังสือความยาวสี่ร้อยกว่าหน้า ให้เขาเพียรทำร้ายแล้วทำร้ายอีกทำไม (วะเนี่ย)

ยิ่งพอคิดว่า ยังมีเรื่องเล่าคู่เคียงไปกับประวัติศาสตร์กระแสหลัก จากการเล่าสืบกันมาของครอบครัวอีกเป็นหมื่นเป็นล้านเรื่องเล่า ที่มีทั้งสุขและเศร้าคละเคล้า เป็นเรื่องจริงของผู้คนที่พยายามจะมีชีวิตให้ผ่านพ้นเงื่อนไขบรรดามีเท่าที่โลกในตอนนั้นจะหยิบยื่นให้ เท่าที่ชีวิตจะมอบกำลังให้ต่อสู้ เท่าที่โชคชะตาจะอำนวยตามแต่บุญกรรมและการสวดอ้อนวอน ยิ่งรู้สึกว่าชีวิตจริงๆ แล้วมันเศร้านะ แต่ที่น่าเศร้ากว่า คงเป็นการที่เรื่องเศร้าไม่ได้ถูกเล่า ไม่ได้ถูกพูดถึงหรือแม้แต่นึกถึง เป็นชีวิตที่เกิดมาแล้วจากไปอย่างเงียบเชียบ ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของใครหรืออะไร เป็นตัวละครที่ไม่มีใครให้ความสำคัญ

อย่างที่เราทำมาตลอด กับการไม่ให้คุณค่าความสำคัญกับชีวิตเล็กๆ ในสายธารประวัติศาสตร์เลย
 
 

Tsukiji Wonderland: พลังอันล้นพ้นของผู้คนในสึกิจิ

Tsukiji Wonderland | 築地ワンダーランド
(2016, Shotaro Endo, A++)



กลายเป็นหนังที่เรานั่งร้องไห้ปาดน้ำตาป้อยๆ ตลอด 20 นาทีสุดท้าย ไม่รู้ว่าเป็นเพราะฮอร์โมนแกว่ง เพราะหิวอยากกินซูชิ หรือเพราะอิจฉาพลังอันล้นพ้นของผู้คนที่พบเห็นในหนังกันแน่ แต่เรารู้สึกกับเรื่องราวเหล่านั้นมาก

ช่วงแรกยังมีความตามหนังไม่ทันเท่าไหร่ แบบเฮ้ยๆ มึงทำไมไปเร็วจัง ไม่อารัมภบทอะไรหน่อยเลยเหรอ มาถึงก็ขายปลาเลยเหรอ (ถ้าพ้นจากช่วงอ้อยอิ่งโชว์วิวกรุงโตเกียวไปแล้วน่ะนะ) แต่พอเริ่มปรับตัวได้ก็โอเคและเพลิดเพลินละ หนังเล่าเรื่องเป็นหัวข้อๆ เหมือนกับบทในหนังสือ แม้จะรู้สึกว่าประเด็นในหนังมันเยอะแยะไปหมด และในบางช่วงก็ไม่ได้เชื่อมต่อกันอย่างเรียบลื่นมากนัก แต่ก็ไม่ได้ถือเป็นอารมณ์อะไรนะ เพราะสุดท้ายพอมันเล่ามาจนถึงจุดนึงที่งานอารมณ์ของเราจนได้ที่ จนต้องเสียน้ำตา อ่อ สุดท้ายแล้วท่ามกลางประเด็นหลากหลาย สิ่งที่สำคัญที่สุดอันเป็นหัวใจก็คือ คน ตลาดสึกิจิที่ยิ่งใหญ่ มีชีวิตชีวาได้ก็ด้วยผู้คนนับหมื่นที่อยู่ในนั้น ผู้คนอีกนับแสนที่อาจเคยแวะเวียนไปที่นั่น และผู้คนอีกนับล้านที่ทานอาหารที่ถูกคัดและขายจากที่นั่น

ถ้าได้ดู Jiro Dreams Of Sushi (2011) มาก่อน น่าจะยิ่งทำให้เราดื่มด่ำและดิ่งไปกับวัฒนธรรมอาหารการกินของญี่ปุ่นได้อร่อยขึ้น จำได้ว่าตอนที่ดูจิโร เราเซอร์ไพรส์กับความซับซ้อนเกินจินตนาการของเราไปมากของอาหารที่ปั้นเป็นคำๆ ดูเรียบง่าย และเรื่องราวเบื้องหลังมึงเยอะเหลือเกินนะเจ้าซูชิ แต่พอย้ายจากเรื่องหน้าครัว และความมุ่งมั่นสุดเนิร์ดของลุงจิโร่ มาสู่ Tsukiji Wonderland ทีพาไปในขั้นวัตถุดิบละ ก็เจอว่า อ้าว นี่มึงเนิร์ดกันทั้งตลาดเลย ความรักและหลงใหลในอาชีพที่ทำนั้นเหมือนไหลเวียนอยู่ในกระแสโลหิต แค่ขายปลาทำไมต้องรู้จักปลาเหมือนเป็นญาติสนิท แค่ขายปลาทำไมต้องรู้จักลูกค้าทุกคนที่ซื่อปลาของเรา แค่ตลาดขายปลาทำไมต้องมีห้องสมุดเอาไว้หาความรู้เรื่องปลา และเก็บประวัติศาสตร์ไปได้ แล้วขายปลาทำไมไม่โฟกัสที่กำไร แต่ขายเพื่อดำรงไว้ซึ่งจิตวิญญาณ ทำไมมมมมมมม

เข้าใจว่าสิ่งที่ได้เห็น ได้ยิน จากผู้คน มันก็ได้ผ่านกระบวนการเพิ่ม ลดทอน ตัด คัดเลือก อันเป็นธรรมดาของหนังซักเรื่องอยู่แล้ว ถ้าไม่ใช่ญี่ปุ่น เราอาจจะมีความกังขามากหน่อย ว่าแหม พวกแกจะจริงจังอะไรเบอร์นั้น แต่พอเป็นญี่ปุ่นเนี่ย ต่อให้มันผ่านเทคนิคการบิลด์จนความทุ่มเทนั้นมันมีขนาดใหญ่ไปมาก แต่เราก็ยังยินดีจะเชื่อ เพราะมันเป็นญี่ปุ่นไง ญี่ปุ่นนนนนน

มานึกดู ตอนที่อินจัดจนร้องไห้ มันคือช่วงที่สัมภาษณ์คุณพี่พ่อค้าปลาที่ตลาดอุระยาสุ จังหวัดชิบะ คุณพี่เขาบอกว่า เขาเครียดทุกครั้งเวลาไปสึกิจิ เขารู้สึกว่ามวลพลังในตลาดนั้นมันมหาศาล แล้วสิ่งที่เขาแบกกลับมามันไม่ใช่แค่ปลาที่เอามาขายต่อในฐานะที่เขาเป็นพ่อค้าปลีกละ แต่มันคือความหวัง คือความรู้ คือเรื่องราวเบื้องหลังปลาแต่ละตัวที่พ่อค้าในสึกิจิมี เขาต้องถ่ายทอดสิ่งนี้ให้ลูกค้าได้รับรู้ จึงจะถือว่าเขาทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ ภาพที่เห็นในหนัง คือคุณพี่คนนี้จะพยายามเล่นมุก สอดแทรกความรู้เกี่ยวกับอาหารทะเลให้กับลูกค้าที่แวะเวียนมา (ซึ่งลูกค้าอยากฟังรึเปล่าก็ไม่รู้แหละ) อย่างตั้งใจมากๆ แบบ โอ้โหพี่ ทำไมภาระที่พี่แบกไว้มันยิ่งใหญ่ขนาดนี้

มันเหมือนกับไอ้ความตั้งใจพวกนี้มันไหลเวียนอยู่ในตัวปลา พ่อค้าสายส่งก็ตั้งใจจะพรีเซนท์ปลาแต่ละตัวให้ดีที่สุด ให้ได้ราคาที่ดีที่สุด เพราะชาวประมงเขาเสี่ยงชีวิตไปหาปลามา เขาจะทำให้ชาวประมงผิดหวังไม่ได้ พ่อค้าคนกลางก็ต้องแข่งขันกันหาปลาที่ตอบโจทย์ลูกค้าของตัวเองให้ได้ เพราะลูกค้ามอบความไว้วางใจให้พวกเขาแล้ว ก็ต้องทำให้เต็มที่ พอเชฟร้านอาหารรับปลาไป ก็ต้อตั้งใจปรุงเนื้อปลาเหล่านั้น ให้ได้รสชาติที่สมบูรณ์แบบที่สุด เพราะเขารู้ว่ากว่าจะได้ปลาตัวนึงมาวางในจานมันผ่านความตั้งใจของคนจำนวนมาก และต้องให้เกียรติปลาอีก มีตอนนึงที่เชฟพูดถึงปลาชนิดนึง แล้วบอกว่า เราต้องปรุงให้คนได้รับรสชาติของ 4 ฤดูกาลที่ปลาตัวนี้มันผ่านมา เรื่องราวมันอยู่ในเนื้อปลา โอ้โห ละเอียดอ่อน พิถีพิถัน ต่อไปนี้ไม่อาจกินซูชิแบบทิ้งๆ ขว้างๆ ได้อีก (อ่อ เพราะเห็นคุณค่าของเนื้อปลา /เปล่า มันแพงโว้ย!)

เมื่อหลายปีก่อนเคยติดใจคำพูดนึงที่อ่านเจอในหนังสือ ว่าคนเมืองสมัยนี้หยาบ เราไม่เคยรู้ว่าที่มาของของกินเรามาจากไหน มันเดินทางมายังไง เราก็แค่กินมันเข้าไปแล้วจบ เรารู้สึกทั้งเข้าใจและไม่เข้าใจ จนระหว่างดูเรื่องนี้ ก็นึกถึงคำพูดนี้ขึ้นมา เลยพอจะนึกภาพออกถึงความ "ไม่หยาบ" ที่คนพูดสิ่งนั้นหมายถึง ความละเอียดอ่อนในอาหารไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในสวนหลังบ้านสุดออแกนิกส์ แต่มันอยู่ในตลาดใหญ่โคตรแมสแบบนี้ได้ กว่าจะเป็นอาหารหนึ่งคำที่เรารับเข้าปากไป ต้องผ่านความใส่ใจ การเรียนรู้ การทุ่มเทของคนจำนวนมากแค่ไหน อย่างน้อยที่สุด แม้การดูหนังเรื่องนี้จะไม่ได้ทำให้เราลดอาการแดกหนัก แดกด่วน แล้วมารื่นรมย์แอพพรีชิเอทกับรสชาติอาหารอะไรขนาดนั้น แต่อย่างน้อยใจเราก็ละเอียดขึ้นนิดนึง เมื่อเริ่มมองเห็นว่า อาหารมันไม่ใช่แค่ปัจจัยสี่ที่เรากินเข้าไปเพื่อให้มีชีวิต แต่ชีวิตต่างหากที่ไหลเวียนอยู่ในอาหาร สิ่งที่สะท้อนวัฒนธรรมของที่ใดๆ ได้ดีที่สุดสิ่งหนึ่งก็คืออาหาร

และญี่ปุ่นที่เรามองเห็นในอาหารของพวกเขานั้น งดงามที่สุด

แฟนเดย์ แฟนกันแค่วันเดียว (One Day)

แฟนเดย์ แฟนกันแค่วันเดียว (One Day)

(2016, บรรจง ปิสัญธนะกูล, B+) 





*สปอยล์แน่นอน ดูแล้วค่อยมาอ่านก็ได้จย้าาาา

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ในฐานะติ่งน้องมิวก่อน
.
สองปีก่อนเคยเสียดายที่มิวไม่ได้เล่น Timeline (2014) เพราะตอนนั้นเจมส์จิดังมาก และถ้ามิวได้เล่นเรื่องนี้ก็น่าจะดังไปด้วยได้ แต่พอดูหนังจบ ก็กลายเป็นดีใจมากกว่าที่มิวไม่ได้เล่น เพราะมิวในตอนนั้นคงแบกหนังทั้งเรื่องไว้ เหมือนที่เต้ยทำไม่ได้ เพราะส่วนดีที่สุดของหนังคือเต้ยจริงๆ ศักยภาพของมิวตอนนั้นยังไม่ถึงว่ะ ถ้าน้องมาเล่นผลลัพธ์น่าจะแย่มากกว่าดี
.
เราติดตามและเฝ้ามองพัฒนาการของมิวมาตั้งแต่ละครเรื่องแรก (เอาจริงๆ กูก็คือเด่นชัยนี่แหละ ตามอยู่ลับๆ ยังกับซีเคร็ทแอดไมเรอร์) ที่เล่นแข็ง แววตาไม่สื่อสารอะไรกับใครเลย แต่พอถึงซีนที่ต้องยิ้มเมื่อไหร่ก็ตายไปตรงนั้น จนเรื่องที่สอง แม้จะดูผ่อนคลายขึ้น แต่ก็ยังไม่ดีนะ มาเห็นเปลี่ยนแปลงชัดขึ้นคือตอนที่มิวเล่นเป็นลูกศร ในทรายสีเพลิง อันนั้นดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แม้จะไม่ใช่ทั้งเรื่อง แต่มันมีบางซีนที่เราดูแล้วแบบ เฮ้ย มิวเก่งขึ้นว่ะ เก่งขึ้นมาก เห็นแล้วสบายใจ แต่อีกใจก็รู้สึกเสียดายความใสๆ ของมิวที่เห็นในเรื่องแรกเหมือนกัน เอาจริงๆ เราก็ยังอยากหยุดมิวไว้ให้เป็นท่านหญิงแข็งๆ แต่ยิ้มตายต่อไปนั่นแหละ
.
จนพอเห็นข่าวว่ามิวมาเล่นหนังเรื่องแรก กับ GDH ก็ดีใจและอุ่นใจนิดหน่อย เชื่อมือ GDH และพี่โต้ง อยู่พอประมาณ แต่ก็กลัวอยู่อีกนิด ว่าน้องจะไหวใช่มั้ยกับหนังใหญ่ แต่เฮ้ย ถ้าไม่ไหวเขาไม่เลือกน้องหรอก และถ้ามันไม่ดีผู้กำกับคงไม่ปล่อยแน่ๆ ว้าวุ่นอยู่คนเดียว เลยตื่นเต้นติดตามและอยากดูหนังมาก อยากรู้ว่ามันจะเป็นยังไง นี่น่าจะเป็นหนังที่ตื่นเต้นรอชมมากเป็นลำดับต้นๆ ในชีวิตเลยมั้ง (อาการหนักกว่านี้น่าจะเป็นแฮร์รี่ พอตเตอร์ 555)
.
จนเมื่อดูหนังจบ ก็พบว่ามิวยังคงเป็นมิวที่มีรอยยิ้มที่เราชอบคนเดิม ที่เพิ่มเติมคือพัฒนาจนเก่งขึ้นมาก มากแบบที่สบายใจหายห่วงได้แล้ว เราว่าหนังใช้ศักยภาพของมิวได้สุดดี ทั้งในแง่การแสดง และเสน่ห์ แต่ก็ใช้สุดเกินไปเหมือนกัน จนช่วงท้ายๆ รู้สึกว่ามันตันแล้ว มิวยิ้มจนรู้สึกว่ามันเยอะและพยายามไปหน่อยแล้ว อึดอัดนิดหน่อย แต่รวมๆ แล้วไม่ได้ติดอะไรมากมาย ถ้าพูดแบบผ่านๆ คือ แค่เข้าไปดูมิวยิ้ม ก็พอแล้วน่ะ
.
อ้อ และซีนที่มิวพูด "แม่ง" และ "เหี้ย" นี่คือระดับความรุนแรงต่อใจพอๆ กับที่อายาเสะจุดบุหรี่ในซีรี่ส์ Never let me go รู้สึกดีจริงๆ พีคมาก ชอบ ขออีก ขออีกกกก
.
.
ว่าด้วยหนังบ้าง

เสียดายเพราะพล็อตมันดี และอยากให้ขยี้ไปให้สุด เข้าใจว่าคงไม่อยากเสี่ยงมากมั้ง เพราะเป็นหนังเรื่องแรกของค่าย คงอยากจะค่อยๆ จูนความคาดหวังของคนดูเสียใหม่อะไรทำนองนั้นมั้ง ทั้งที่กลิ่นอายความ Stalker ความจิต ความฝัน มันฉุนมาก และถ้าเรื่องมันพาเราดิ่งไปดาร์คกว่านี้อีกซักนิดหน่อยนะ จะเซอร์ไพรส์และคงจะชอบมากกว่านี้ ทั้งที่เราว่าเขาอยากขายยาขมนะ แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่าง เลยต้องเอายาขมมาเคลือบน้ำตาล แต่ดันเคลือบหนาไปหน่อย เพลย์เซฟมากไปหน่อย
.
ชอบซีนที่เด่นชัยสารภาพวีรกรรม Stalk ของตัวเอง ในสองบริบทที่ต่างกัน โห ตอนนั้นดีมาก และจะดีไปอีกถ้าซีนสารภาพตรงที่จอดรถนั้นมันจะดาร์คเข้มกว่านี้อีกหน่อย ให้ได้ฟีล "หลอนว่ะ" มากกว่านี้ 5555 บอกแล้วว่าดีใจที่ได้เห็นพล็อตนี้ แต่เสียใจที่มันยังไปไม่สุด ไม่สาแก่ใจเรา (ทำไมมึงเอาแต่ใจจังวะ)
.
ติดขัดความไม่น่าจะเป็นไปได้หลายอย่าง ไม่ถึงขั้นกระทบกับเรื่อง แต่มันดูแล้วไม่ค่อยเชื่อ เช่นฉากที่เด่นชัยแล่นเข้าไปนั่งร่วมโต๊ะบุฟเฟต์กับพี่ท็อป แม่งดูโคตรเป็นไปไม่ได้ หรือฉากเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับญี่ปุ่น อย่างการปิดม่านใส่ของเจ้าหน้าที่รถไฟญี่ปุ่น หรือหมอญี่ปุ่นที่พูดภาษาอังกฤษไม่ติดสำเนียงญี่ปุ่นเลย แม่งทำไมฟังง่ายจังวะ ตอนไปคุยกับหมอที่ญี่ปุ่นนี่กว่าจะพูดให้เข้าใจ กว่าจะฟังกันออก นี่แสนยากลำบาก แต่นั่นแหละ มันไม่เกี่ยวกับสาระสำคัญของเรื่อง เลยไม่เอาเป็นอารมณ์มาก
.
แต่ที่ติดจริงๆ มีอยู่สองสามอย่าง อันแรกคือซีนในห้องนอน ตอนที่นุ้ยรู้ความจริงจากเด่นชัย เรารู้สึกว่าอารมณ์ตรงนั้นมันเร็วไปหน่อย คือในขณะที่หนัง (ซึ่งความยาวยาวมาก) ใช้เวลาทอดอารมณ์กับหลายๆ ฉากค่อนข้างมาก แต่การเคลื่อนของอารมณ์ในซีนที่ว่ามันเร็วไปอ่ะ เร็วจนเราไม่ค่อยเชื่อว่านุ้ยโกรธหรือรู้สึกอะไรกันแน่ แล้วพอเล่าต่อไป อารมณ์ของนุ้ยก็ไหลลงมาเร็วเช่นกัน แล้วบทจะสืบจนรู้เรื่องโคตรไว ไรวะเฮ้ย น้องตามไม่ทันแล้วพี่บัวลอย
.
อันที่สองคือบรรดาสิ่งจำนู่นนี่ที่หนังหย่อนเอาไว้เยอะมาก ทั้ง CTRL+Z , เพลงพี่แจ้ หนักสุดคือเอฟเวอเรสต์ เราเข้าใจนะว่าเพื่อให้ขายได้ ให้คนจำโควตไปพูดต่อ มันก็ต้องมีกิมมิคให้จำได้พวกนี้เอาไว้บ้าง แต่มันไม่คม ไม่ฮุค เหมือนอย่างที่เรื่องอื่นทำได้อ่ะ อย่างเพลงพี่แจ้นี่เสียดายมาก มาแบบงงๆ แล้วก็ไปแบบงงๆ อี CTRL นี่ก็ไม่ใช่มุกใหม่ ส่วนเอฟเวอเรสต์ เวิลด์เทรดอะไรนี่เสียดายสุดเลย มันไม่ชัด ไม่ใหม่ ไม่เคลียร์ ตอนที่เด่นชัยพูดสิ่งนี้ในซีนไคลแมกซ์ แล้วทุกอย่างคลี่คลาย เราแบบ เอ๊ะ ขึ้นมาเลย หืม เอางี้เลยเหรอ
.
แต่อันที่ชอบและอยากให้ขยี้มากกว่าสามมุกนั้น คือไอ้การเอานิ้วจิ้มเพื่อกดปุ่มพูดตรง อันนั้นดีจะตาย เสียดายที่มันไม่ถูกขยี้ให้จำได้มากนัก
.
อันที่สามคือดนตรีประกอบ ไม่รู้ว่าตั้งใจใส่เพื่อให้เราอึดอัดและพยายามจะสื่อสารอะไรกับคนดูรึเปล่า หรือจะทำให้มันตลกหรือยังไง แต่มันเยอะไปจนรู้สึก จนรำคาญ ทั้งที่อารมณ์ของนักแสดงตรงนั้นมันพอแล้วอ่ะ เพลงไม่จำเป็นเลย
.
สนใจความเป็นเหยื่อของนุ้ยมาก เป็นตัวละครที่น่าสงสารอีกตัว น่าสงสารจนเราอยากจะเป็นเพื่อน และจับมือหรือกอดนุ้ยเพื่อบอกว่ายังมีเรานะ ไอ้ความเมียน้อยที่กำหนดชีวิตตัวเองไม่ได้เลยก็เศร้านึงแล้ว พอมาเจอผู้ชายที่ชอบตัวเอง ก็มาในวิธีการที่แปลกมากจนไม่รู้ว่าจะเรียกว่าความรักได้มั้ย เราติดใจตอนที่นุ้ยพูดในคลิปว่า "ชีวิตนี้แกได้เจอคนที่รักแกจริงแล้วนะนุ้ย" ซึ่งก็หมายถึงเด่นชัย ที่เคลมว่าตัวเองทำนู่นนี่ให้นุ้ยมาตลอดแต่นุ้ยไม่รู้ เฮ้ย ตรงนั้นโคตรดี และเรายังคิดกับมันอยู่จนถึงตอนที่เขียนอยู่นี่ ไอ้สิ่งที่นุ้ยรับรู้นั่นสามารถเรียกเต็มปากว่าความรักได้เลยเหรอ วันนั้นนุ้ยอาจจะสนุกและรู้สึกดีที่ได้อยู่กับเด่นชัย ได้รับรู้เรื่องต่างๆ ที่เขาทำให้ แต่มันน่าจะจบลงที่ความรู้สึกดีน่ะ ถ้าเทียบกับหนุ่มสาวในกวนมึนโฮ อันนั้นยังได้มีการปฏิสัมพันธ์ต่อกัน และมีหลายโมเมนท์ที่สามารถพัฒนาไปเป็นความรักได้มากกว่าซะอีก แต่เหมือนตัวละครก็ไม่ได้พูดว่ารักกันแบบชัดเจนเท่านุ้ย การที่นุ้ยพูดคำว่า "รัก" มันเลยเหมือนนุ้ยไม่ได้หมายความถึงคำว่ารักในแบบที่เราๆ เข้าใจ นุ้ยอาจจะแค่อยากไขว่คว้าหาอะไรที่จับต้องได้ แล้วบัญญัติเรียกมันว่าความรัก เพื่อปลอบประโลมจิตใจตัวเองก็เท่านั้น
.
แต่โดยรวมแล้วมันเป็นหนังที่สนุก ไม่หวือหวาเท่าเรื่องอื่นๆ ของคุณโต้ง-บรรจง แต่ก็ยังสนุกอยู่ดี และอย่างที่บอกไปรอบที่ร้อย ว่าเสียดายที่มันไปไม่สุดในสิ่งที่เขาเริ่มไว้ อยากให้มืดและขมกว่านี้อีกนี้ดดด นิดเดียวก็ยังดี ไอ้ตอนจบที่นุ้ยและพี่ท็อปนั่งอยู่หน้าคอม ยังแอบคิดว่าไอ้พี่ท็อปมันต้องสวมรอยเป็นเด่นชัยไปอีกที ตอกย้ำความชิบหายของชีวิตนุ้ยไปให้สุด สาแก่ใจผู้ชมสายโหด แต่ก็นะ หนังเลือกจบแบบนี้ก็ดี ถือว่าเซอร์ไพรส์นะ อย่างน้อยก็เหมือนจะบอกกับผู้ชมเป็นนัยๆ ว่าค่ายนี้อาจจะขออนุญาตลดดีกรีความฟีลกู๊ดลงมานิดนึงนะ แต่ไม่ฟีลแบ้ดหรอกนะะะ แค่ขอลดลงมาหน่อย
.
.
ปล. จริงๆ เราว่าเพลง วันหนึ่ง นี่มันก็เพียงพอแล้วนะ เลือกเพลงมาได้โคตรดี จนเพลงพี่แจ้ไม่เห็นจะจำเป็นเลย

ปล2. รู้สึกว่าเคมีของสองคนนี้ไม่ค่อยเกิดเท่าไหร่ ทั้งที่กับเรื่องอื่นของเต๋อ-ฉันทวิชช์ เราซื้อเกือบหมดเลยนะ เต๋อ-ไอซ์, เต๋อ-หนูนา แต่ เต๋อ-มิว ไม่ค่อยมาว่ะ ไม่รู้ว่าเกี่ยวกับรูปลักษณ์ที่เปลี่ยนไปด้วยรึเปล่า แต่ยังไม่รู้สึกจริงๆ

Harry Potter and the Cursed Child: งานรียูเนียนแห่งโลกเวทมนตร์

Harry Potter and the Cursed Child

(2016, Jack Thorne, John Tiffany)




เนื่องจากไม่ได้จองอะไรไว้ล่วงหน้า เช้าวันอาทิตย์เลยไปดักรอตั้งแต่ห้างเปิด แล้วปรี่เข้าคิโนะด้วยความว่องไว เดาภาพในใจไว้ว่าคนต้องมุงๆ ยื้อแย่งกันหยิบหนังสือน่าดู แต่พอไปถึงร้าน อ้าว ก็ธรรมดาหนิ คิวก็ไม่มี คนก็มาหยิบหนังสือกันเรื่อยๆ ไรวะ ไม่สนุกเลย 555

ทีแรกคิดว่าคงจะใช้เวลามากกว่านี้ เพราะเล่มก่อนเวอร์ชันภาษาอังกฤษ อีนิดนกอ่านอยู่ประมาณสามชาติกว่าจะจบ ดีว่าเล่มนี้มันเป็นบทละครเวที เลยมีแต่บทพูด กับบทบรรยายนิดหน่อย ไม่ได้พร่ำพรรณาโวหารเป็นวรรณกรรมเยาวชนเหมือนเล่มพี่ ก็เลยอ่านง่ายหน่อย ใช้กลางคืนวันอาทิตย์ กับช่วงพักเที่ยงสองวันอ่านก็จบ แต่เห็นข่าว เด็กอังกฤษเก้าขวบแม่งกดไป 59 นาทีจบทั้งเล่ม น้องมีสามตาเหรอ จะเร็วไปไหน

ตัดมาที่เนื้อหา มีความเป็นงานรียูเนียนมากกว่าจะเป็นภาคต่อ คือเรื่องมันไม่ได้พาเราไปข้างหน้า เหมือนเล่ม 1-7 อันเป็นเล่มที่ J.K. เขียนเอง แต่กับ Harry Potter and the Cursed Child มันไม่ใช่เล่ม 8 ไม่ใช่เล่มที่เจ๊เขียน และจะว่าเป็นภาคต่อก็ไม่เชิงนัก (ไม่นับว่ามันเป็นบทละครเวทีด้วยนะ) แต่มันเป็นแฟนฟิค ที่เขียนด้วยความรักและคิดถึงโลกเวทมนตร์ของแฮร์รี่ พอตเตอร์ มากกว่า เลยทำให้ตอนอ่าน เราไม่ได้รู้สึกสนุก หรือลุ้นว่าจะมีอะไรมาเซอร์ไพรส์เราในหน้าถัดไป แต่เป็นการตื่นเต้นว่า มันจะพาเรากลับไปรียูเนี่ยนกับตัวละคร หรือฉากไหน แบบนั้นมากกว่า

(จากนี้ไปจะสปอยล์)
เล่มนี้เริ่มฉากแรกที่การฉายซ้ำบทส่งท้ายของเล่มเจ็ด ก่อนจะพาเราไปข้างหน้า พร้อมกับตัวละครหลักคืออัลบัส เซเวอรัส ลูกชายคนกลางของแฮร์รี่กับจินนี่ คนที่ถามพ่อก่อนขึ้นรถไฟไปฮอกวอตส์ในเล่มเจ็ดนั่นแหละ ว่ากลัวตัวเองจะได้อยู่บ้านสลิธิริน แล้วความน่าตกใจ (แต่พอจะเดาได้นิดหน่อย) ก็คือ อัลบัสได้เข้าสลิธิรินแบบช็อคกันทั้งตำบล เออ อ่านถึงตรงนี้แล้วร้องออกเสียงเหมือนกันนะ แล้วก็อยากติดตามต่อละ ว่าเรื่องมันจะเป็นยังไง

อัลบัสไปเป็นเพื่อนสนิทกับสกอร์เปียส ลูกชายของมัลฟอย ที่ด้วยคาแรกเตอร์ที่เขาสร้างมานี่โคตรจะมีเสน่ห์ ต่างจากอัลบัสที่น่ารำคาญพอๆ กับแฮร์รี่ในเล่มสี่เล่มห้า สองคนนี้แพ็คคู่ไปเจอเรื่องราวโน่นนี่ จนบางทีอ่านแล้วก็แบบ นี่มึงเป็นเพื่อนกันจริงมั้ยเนี่ย ทำไมถึงได้พูดจาอะไรสยิวๆ ใส่กันอยู่บ่อยๆ จนตอนท้ายเรื่องนั่นแหละ ถึงมีซีนที่เฉลยว่าหนึ่งในชอบผู้หญิงจริงๆ (แต่อีกคนก็ไม่แน่)

เราตะหงิดนิดหน่อยตอนที่เรื่องมันพาไปถึงจุดที่ตัวละครจะย้อนเวลาไปช่วยเซดดริก ดิกกอรี คือเรารู้สึกว่าในมหากาพย์แฮร์รี่เนี่ยมันมีอีกหลายจุดเลยที่น่าจะกลับไป แล้วแค่พ่อเซดดริกมาบ่นๆ มันดูไม่น่าจะจูงใจให้อัลบัสอยากจะลุยไปช่วยอ่ะ แบบเข้าใจถึงความอยากจะดื้อจะเซี้ยวใส่พ่อ แต่ทำไมเรายังไม่รู้สึกว่าเหตุผลนี้มันจะ drive การกระทำได้

แต่ถ้าตัดจุดนั้นไป เราก็เพลิดเพลินกับการรวมมิตรทั้งฉากและตัวละครที่เราคิดถึงนะ เพราะเป็นการย้อนเวลา เราเลยจะกลับไปหาไปเจอใครก็ได้ ชอบตอนที่ตัดภาพกลับมายังปัจจุบัน ที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามอดีตที่เข้าไปแก้ไข ฟินสุดก็คงเป็นพาร์ทรอนกับเฮอร์ไมโอนี่แหละมั้ง เขียนมาเพื่อสาวกได้จิกหมอน เออ แล้วรอนนี่ก็ขยันขโมยซีนมาก อยากดูเวอร์ชั่นละครเลยว่าคนที่เล่นเป็นรอนจะเล่นสนุกขนาดไหน

ชอบองก์ 4 นะ อาจเพราะมันเป็นช่วงขมวดสู่ความเข้มข้นก่อนจะคลี่คลายแล้วด้วย ถ้าตัดเรื่องเดลฟี ที่มึงมายังไงวะ แล้วพ่อแม่มึงไปได้กันตอนไหนวะ ออกไปประเด็นเดียว เราชอบความงดงามตอนที่แฮร์รี่ได้เห็นภาพวาระสุดท้ายของเจมส์และลิลลี่มากเลยนะ แบบในเจ็ดเล่มที่ผ่านมา ด้วยความเป็นโลกเวทมนตร์ แฮร์รี่มีหลายโอกาสแหละที่ได้มีทแอนด์กรีทกับพ่อแม่ ซึ่งคนธรรมดาอย่างเราคงจะไม่ได้มีโอกาสอะไรแบบนี้ไง แต่สิ่งเดียวที่ขาดไปก็คือการได้เห็นฉากวาระสุดท้ายแบบ Live เนี่ยแหละ ซึ่งมันมาเกิดในเล่มนี้ ในช่วงวัยที่แฮร์รี่กลายเป็นพ่อคนไปแล้ว

รวมๆ แล้วเพลิดเพลินดี แม้จะไม่ได้มีอะไรให้น่าตื่นเต้นมาก แต่โลกเวทมนตร์ของแฮร์รี่ยังไงก็ไม่เคยน่าเบื่อสำหรับเราอยู่ดี นี่อยากจะเก็บเงินไปดูละครเวทีขึ้นมาเลย เพราะคิดว่าเล่มนี้ถ้าเป็นหนังก็คงกร่อยอยู่ ถ้าไม่ได้เขียนอะไรเพิ่มเติมขึ้นมา แต่พอเป็นละครเวที แล้วมาเจอไอ้พวกซีนต่อสู้กันด้วยคาถาทั้งหลาย อยากรู้เลยว่าภาพมันจะออกมาเป็นยังไง คงจะสนุกไปอีกแบบ

Cafe Society: เรื่องรักของวัยรุ่นตอนปลาย

Cafe Society

(2016, Woody Allen) 


สนุกดีที่ทุกปีจะได้มาลุ้นว่าจะชอบหนังของลุงวู้ดดี้ อัลเลน รึเปล่า บางคนบอกว่าจะชอบหนังของลุงแกปีเว้นปี ถ้ายึดตามหลักการนั้น หนังประจำปี 2016 ของแกอย่าง Cafe Society นั้นจะลงในปีที่เราไม่ควรจะชอบมันพอดี แต่อะไรที่ว่าแน่มันก็ไม่แน่หรอก เพราะกลายเป็นว่า เราชอบหนังประจำปีเรื่องนี้ของลุงเหลือเกิน

สิ่งที่รู้สึกเสมอเวลาดูหนังของวู้ดดี้ อัลเลน คือเราช่างเด็กเกินไปกับเรื่องที่ลุงแกเล่า แบบจะคิดเสมอว่า หากเราโตขึ้นอีกหน่อย มีประสบการณ์ชีวิตมากขึ้นอีกนิด ตัวเราจะเขยิบเข้าไปเข้าใจสิ่งที่ลุงแกจะเล่าได้ใกล้กว่านี้ และเราจะยิ่งรู้สึกกับหนังได้มากขึ้น และปีนี้เองมั้ง ที่เพิ่งรู้สึกตัวเป็นครั้งแรกว่า กราฟวัยของเรา กับหนังของลุงนั้นมันลากมาบรรจบกันพอดี เป็นเหตุผลให้ชอบหนังเรื่องนี้ แบบเอนจอยไปกับอารมณ์ขัน (แบบลุงๆ) และเนื้อหาในนั้นค่อนข้างเต็มที่กว่าเรื่องอื่นๆ

จริงๆ หนังลุงมันก็วนเวียนอยู่กับความน้ำเน่า รักสามเส้า ความว้าวุ้นที่ตกค้างในจิตใจ อะไรพรรค์นี้มาตลอดแหละ แต่กับ Cafe Society นี่มันช่างมีรสชาติน้ำเน่าที่ถูกปากเราดีเหลือเกิน เลยทำให้จดจ่ออยู่กับหนังจนมวนท้องไปหลายตลบ สงสัยว่ามันคงเป็นความรักของวัยรุ่นที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัวเพื่อก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ จำเป็นให้ต้องละทิ้งบางความฝันอันเร่าร้อนเป็นประกาย แล้วเดินหน้าพาชีวิตสู่ความจริงที่เรียลขึ้นเรื่อยๆ แสงแดดอุ่นๆ กับเธอในชุดลำลองขาสั้น และจุมพิตริมหาดทรายนั้นกลายเป็นภาพฝัน เป็นภาพเขียนที่ไม่ใกล้ความจริง เมื่อเทียบกับบ้านหลังใหม่ที่เพิ่งซื้อ กิจการและงานที่ต้องคอยแก้ปัญหา และผ้าอ้อมเป็นสิบเป็นร้อยผืนที่ต้องเฝ้าคอยเปลี่ยน

ไม่เคยมีความรู้สึกอะไรกับ Kristen Stewart จนเมื่อเร็วๆ นี้เห็นเธอในแอดของชาแนลตัวใหม่ ก็รู้สึกว่าถ่ายภาพเธอออกมาได้สวยดี และคริสเทนในหนังเรื่องนี้นั้นสวยงามเป็นผู้เป็นคนดีจัง แต่ถึงอย่างนั้น ยังไงเราก็โปร Blake Lively มากกว่าอยู่แล้ว แม่คุณแม่ทูนหัว โดนฉลามกัดยังสวยขนาดนี้ (เดี๋ยวๆ คนละเรื่อง) เออ นั่นแหละ เพราะความโปรเบลค บวกกับความเข้าใจหัวอกเมีย เลยทำให้เราเป็น #ทีมเมียหลวง แน่นอน นี่ถ้าเป็นหนังที่เราทำคือมีตบไปแล้ว (เดี๋ยวๆ นี่หนังวู้ดดี้ อัลเลน ไม่ใช้หนังป้าแจ๋วนะมึงนะ)

แต่เอาจริงๆ เลยนะ บางทีในความฝัน หรือในบางมุมลึกๆ ของใจ เรามีอะไรชวนเพ้อฝัน หรือบ้ามากๆ ที่อยากทำเก็บซ่อนอยู่ จนบางทีก็เผลอใผลปล่อยใจคิดทอดอารมณ์ตาลอย คิดถึงสิ่งที่อยากให้มันเป็นนั้น เนิ่นนานจนเมื่อรู้ตัว ดวงตาปรับโฟกัสจนเห็นภาพข้างหน้าชัด จึงรู้ว่าความจริงต่างหากที่เราต้องอยู่ด้วย เราถอนหายใจหนึ่งที แล้วทำชีวิตให้มันดีต่อไป

Everybody wants some!!: อยากกลับไปซ้ำ

Everybody wants some!! 

(2016, Richard Linklater, A-)






หนังอะไรมีแต่ไดอาล็อกคุยกันไปมา ไม่มีช่วงเร่งเร้าไคลแม็กซ์อะไร แต่ทำไมสนุก ก็ลิงก์เลเตอร์เจ้าเก่ารักษาฟอร์มเก๋าแกไว้ดี กูจะเล่าแบบนี้อ่ะ ทำไมอ่ะ

เราใช้เวลาพอสมควรเหมือนกันกว่าจะจูนเข้าไปในหนังติด แต่พอติดแล้วก็เพลินเลย สนุกไปตามที่ตัวละคร และบทสนทนาจะพาเราไป อินเรื่องเพื่อน เรื่องการอยู่ร่วมหอ ร่วมบ้านเดียวกันกับเพื่อนเยอะๆ และรอยต่อช่วงก่อนเข้ามหาลัยนะ แต่ก็เป็นความอินในระดับที่เราแค่ไปพิงๆ กับหนังอ่ะ ไม่ได้จมหรือดิ่งไปด้วยเท่าไหร่

ไม่รู้เกี่ยวกันมั้ย แต่นึกถึงสมัยก่อน มีรุ่นพี่แนะนำให้ดู High Fidelity แล้วบอกว่าเราน่าจะชอบ พอไปดูเข้าจริงๆ ก็พบว่าเราไม่ได้รู้สึกกับมันมากอย่างที่คิดไว้ เออ มันเป็นหนังที่สนุกแหละ แต่ด้วยยุคสมัยและความเป็นผู้ชายมากๆ ทำให้เราเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับหนังไม่ค่อยได้

กับ Everybody wants some!! ก็รู้สึกคล้ายๆ แบบนั้นแหละ พอมันเป็นกลุ่มเพื่อนผู้ชาย วันๆ จ้องจะแดกเหล้าและเด้าสาวอย่างเดียว เราก็ไม่เก็ทเท่าไหร่ละ แถมดันไปเกิดในยุคสมัยที่เรายังไม่เกิด เพลงที่ไม่เคยได้ยิน เลยยิ่งพาเราห่างออกไปอีก แต่ยังดีว่าหนังมันไม่ได้ปรุงแต่งมาก คือพยายามเล่าแบบให้เราเป็นผู้เฝ้าดูความเป็นไปของตัวละคร กราฟนิ่งๆ เนิบๆ ไม่ได้เร่งเร้าอะไร เลยทำให้เราสนุกกับการเฝ้าดูได้ เหมือนดูวิดีโอเทปที่พ่อแม่อัดเอาไว้สมัยแกเป็นหนุ่มสาวอ่ะ ไม่ต้องมีไคลแม็กซ์ก็ได้ แต่เราก็ได้เข้าใจ ได้รู้จักพวกเขามากขึ้นอีกนิดนึง

มีบางตัวละครที่ทำให้นึกถึงรุ่นพี่ปีโคตรแก่ชื่อพี่เงี้ยว ที่แกชอบเป็นตัวละครลับในงานรับน้องของแทบจะทุกปี (ในสมัยนั้น) แกมาของแกคนเดียว โดนแซวทุกปี แต่แกก็ยังมา ไม่รู้ว่าแกเบื่อชีวิตหรืออะไร แต่เดาว่าการได้มางานนี้คงทำให้แกกระชุ่มกระชวยหัวใจขึ้นนิดหน่อย มีบางตอนที่ทำให้นึกถึงความใสของการเป็นเด็กปีหนึ่ง ที่ขาวเป็นผ้าขาว พร้อมจะเชื่อฟังและดื้อรั้นในเวลาเดียวกัน และมีอีกฉากที่ทำให้นึกถึงวันแรกของการเข้าห้องเรียนในมหาลัย ที่ตั้งใจใส่ชุดนักศึกษาเข้าห้อง เตรียมหนังสือเล่มใหม่เอี่ยม และเครื่องเขียนครบชุด ตั้งเป้าในใจว่าจะเป็นนิดนกคนใหม่ ผู้ตั้งใจเรียน และวันนั้น ก็เป็นวันเดียวนอกจากวันสอบ ที่ใส่ชุดนักศึกษา และหนังสือเล่มนั้นก็ไม่ได้เปิดอีกเลยจนถึงวันก่อนสอบ

แปลกดีที่ตอนอยู่มหาลัยเราไม่ค่อยคิดเรื่องเรียน แค่อยากใช้ชีวิตให้คุ้ม แต่พอตอนนี้มองกลับไป ก็อยากกลับไปเข้าห้องเรียนที่สุด ชีวิตมันก็แปลกดี แต่ถ้าถามว่าชอบชีวิตมหาลัยมั้ย ก็จะตอบได้อย่างเร็วๆ เลยว่า ที่สุด

The Beginning of Life: ชีวิตที่เริ่มต้นให้ดีได้

The Beginning of Life

(2016, Brazil, Estela Renner)





เพิ่งดูเรื่องนี้ใน Netflix ที่กดเข้าไปเพราะแพ้รูปโปรโมทที่เป็นเด็กจิ๋วน่ารัก และเพิ่มเติมความรู้เผื่อวันนึงมีลูก แต่พอเห็นเครดิตก่อนเริ่มหนัง เลยได้รู้ว่าเป็นหนังที่สปอนเซอร์โดย Unicef เพื่อสร้างความเข้าใจให้คนเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาเด็กในช่วง Early year (ภาษาไทยมันจะใช้คำว่าอะไรวะ แบบปฐมวัยเหรอ หรือทารก หรือยังไงวะ) รูปแบบก็เป็นสารคดี ที่ฉายให้เห็นภาพของเด็กและครอบครัว ต่างภาษา วัฒนธรรม สถานะทางสังคม ทั้งรวยมาก จนมาก ชนชั้นแรงงาน เกย์ แม่ที่ท้องในวัยเรียน ฯลฯ ตัดสลับกับบทสัมภาษณ์ของนักวิชาการด้านพัฒนาการเด็ก, นักจิตวิทยาเด็ก ฯลฯ โดยทั้งหมดทั้งมวลนั้นทำขึ้นเพื่อนำไปสู่บทสรุปเดียวที่ว่า เรามาช่วยกันสร้างสังคมที่ดีเพื่อเด็กๆ กันเถิด

หนังค่อนข้างมีโทนในการนำเสนอเป็นแง่บวกแหละ เพราะมันสร้างโดยยูนิเซฟอ่ะเนอะ ขนาดตามสลัมที่ดูจะหาความหวังไม่ได้ หนังยังเล่ามันในโทนสว่าง แล้วทิ้งช่องเอาไว้เล็กๆ ว่าที่แห่งนี้ก็ต้องการความช่วยเหลือจากพวกยูนะ แต่นอกนั้นมันเป็นการให้ความหวัง เน้นให้เห็นว่าในกระบวนการเติบโตของเด็กหนึ่งคนนั้นพวกเขาต้องการอะไรบ้าง (แน่นอนว่าไม่ใช่วัตถุพวกของเล่น ไอแพด อาหารเสริม) พ่อแม่จะมีบทบาทในการกล่อมเกลา และใช้โอกาสทองในช่วงสามขวบปีแรกของชีวิตเพื่อพัฒนาเด็กได้อย่างไร และที่สำคัญคือ สังคมมีส่วนอย่างมากต่อการเติบโตของเด็ก เพราะเด็กคือสมบัติของสังคม คือความหวังของสังคม

ดูบางช่วงแล้วคิดถึง Where to invade next เรื่องระบบการศึกษาของที่ฟินแลนด์ แล้วก็คิดถึงร่างรัฐธรรมนูญของบ้านเรา ที่เพิ่มการเรียนฟรีช่วงปฐมวัย ผลักดันให้เด็กเข้าระบบการศึกษาตั้งแต่สามสี่ขวบ ซึ่งมันย้อนทางกับสิ่งที่หนังพยายามจะสื่อ เด็กในช่วงนี้ไม่ต้องการอะไรเลยนอกจาการเล่น และการดูแลพวกเขาอย่างเต็มที่จากพ่อแม่ หรือคนในครอบครัว การพูดคุยกับพวกเขาเยอะๆ การปล่อยให้พวกเขาได้เล่นอย่างอิสระต่างหากที่สร้างเซลล์ในสมองจำนวนมหาศาล ซึ่งเรื่องนี้ไม่น่าจะใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร เพราะขนาดคนง่อยๆ ไม่ค่อยได้เสพอะไรมากอย่างเรา ยังคุ้นตาคุ้นหูว่าเคยได้อ่าน ได้ยินมาแต่ไหนแต่ไร แต่ก็นั่นแหละ ในบางสังคมอาจจะต้องการปกครองและควบคุมสมองของคนให้เร็วๆ หน่อย จะได้ไม่ดื้อกันมาก

คนที่มีลูก หรือกำลังจะมีลูก ดูแล้วคงได้อะไรเยอะเลย ที่สำคัญ เด็กๆ น่ารักมาก

Sing Street: แด่การเติบโตและคนรุ่นที่แล้ว

Sing Street

(2016, John Carney, A) 



- น่าจะเป็นหนังของ John Carney ที่เราสนุกกับมันที่สุด คือด้วยตัวหนัง วัยของมัน ฉากหลัง พลอททั้งหมด เอื้อให้มันเป็นหนังสนุกอยู่แล้ว บวกกับความชอบหนังแบบ Coming of Age ของตัวเองเข้าไปอีก เลยทำให้ยิ่งสนุก และชอบ Sing Street มากเข้าไปอีก

- มันเป็นหนังฟอร์มวงแบบพวก School of rock ซักซี้ด หรือ Swing girl แต่ก็ไม่เหมือนซะทีเดียว เพราะมันไม่ได้ไปโฟกัสกับความแปลกแยก ความลูสเซอร์อะไรพวกนั้น ตอนแรกเราคิดว่าหนังจะเล่าแหละ แต่เอาจริงๆ แล้วมันไม่ใช่ มันไม่ได้ไปเสียเวลากับตรงการฟอร์มวง หรือเน้นความเนิร์ด ความกีค ความเละๆ เทะๆ ของไอ้พวกนี้ แต่ทรีทตัวละครเป็นนักดนตรีที่พอใช้ได้ เป็นวงที่โอเควงนึง แล้วให้เวลากับการฉายภาพให้เห็น กระบวนการสร้างเพลงเพลงนึง ว่ามันเป็นชิ้นส่วนของชีวิตศิลปินเหล่านั้นยังไง และมันทำให้ศิลปินเติบโตไปยังไง

- ได้อ่านสัมภาษณ์ของ John Carney เขาบอกเอาไว้ว่าอยากให้คนได้ดู creative process ของศิลปิน ซึ่งมันก็จะเริ่มจากตอนที่เป็นวงโรงเรียนนี่แหละ วัตถุดิบที่จะหยิบจับมาทำเป็นเพลงมันก็ไม่ได้มีมาก ถ้าชีวิตราบรื่นมาก วัตถุดิบก็อาจน้อย แต่ถ้าชีวิตมันชักจะหวานขม หรือที่ในหนังเรียกว่า Happy-sad เพลงก็จะมีเรื่องเล่า มีอารมณ์ กระบวนการสร้างงานศิลปะซักชิ้น ต้องประกอบขึ้นจากประสบการณ์ จากการเผชิญหน้า จากการใช้ชีวิต จากการได้เป็นมนุษย์

- ฉากหลังของหนังเซทไว้ว่าอยู่ในยุค 80 วัยรุ่นวง Sing Street ก็คือคนรุ่นพี่ หรือน้าของเรา เราว่ายุคสมัยมันสำคัญ และน่าสนใจมาก เพราะการเติบโตของวัยรุ่นในต่างยุคสมัย ยังไงก็ต่างกันในรายละเอียด แต่น่าสนใจพอกัน

- ยิ่งน่าสนใจเข้าไปอีก เมื่อหนังทำให้เราเห็นว่า ไอร์แลนด์ในยุคสมัยนั้นมันไร้ซึ่งความหวัง เมืองทำลายความฝันของหลายชีวิต ใครที่พอมีลู่ทาง ก็ขอไปหาโอกาสเอาดาบหน้าที่อื่นจะดีกว่า มันเป็นความฝันแบบดั้นด้นดิ้นรนดิบๆ แบบที่คนเจนวายอาจจะไม่คุ้นเคยเท่าไหร่

- คนเรามันก็ต้องดิ้นรนกันทุกยุคสมัยแหละ แค่ว่าในรายละเอียดเราดิ้นรนกันคนละแบบเท่านั้นเอง

- มีฉากนึงที่เราชอบมาก คือเป็นตอนที่คอนเนอร์ (Ferdia Walsh-Peelo) คุยกับเบรนแดนพี่ชาย (Jack Reynor) แล้วเบรนแดน (ที่คอนเนอร์มองเป็นเหมือนพระเจ้า ไว้ใจให้เป็นที่ปรึกษา เป็นกูรูของชีวิต) บอกกับเขา ว่าคอนเนอร์เพียงแค่เดินตามทางที่พี่ชายถางเอาไว้ให้ ลูกคนเล็กที่เกิดมาในตอนพ่อแม่โอเคแล้ว ไม่ได้ต้องรับรู้หรือผ่านช่วงเวลายากลำบากของการก่อร่างสร้างครอบครัวเหมือนที่เขาต้องเจอหรอก

- เราชอบประเด็นนี้ (ที่ไม่ค่อยได้เห็นในเรื่องอื่นเท่าไหร่) เราคิดถึงพี่ชาย ที่มันคงอยากพูดเหมือนกับที่เบรนแดนพูด เราเป็นลูกคนเล็ก ที่แม้ชีวิตจะไม่ได้สบาย แต่ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าลำบาก พ่อแม่ตามใจเราได้หลายอย่าง เพราะว่าครอบครัวโอเคแล้ว แต่กับพี่ชายที่แก่กว่าเราเป็นสิบปี ต้องผ่านเวลาที่พ่อแม่ลำบากสุดๆ ซีนอารมณ์สุดๆ ต้องเสียสละ และทิ้งโอกาสบางอย่างในชีวิตไป มันอาจเป็นบาดแผลในการเติบโตของเขาก็ได้

- แต่มันเป็นความผิดของเรา หรือคอนเนอร์เหรอ ก็ไม่ใช่หรอก เพราะไม่มีใครเลือกตั้งแต่เกิดได้ว่าอยากได้คอนดิชั่นในชีวิตเป็นแบบไหน เราก็แค่คว้าโอกาสเท่าที่จะพอจับหาได้ในชีวิต แล้วทำมันให้เต็มที่ เท่าที่ชีวิตจะให้เรามา

- การขับรถไปส่ง และร่ำลาน้องชายที่ท่าเรือของเบรนแดน มันเลยดีมาก และเรารู้สึกกับฉากนั้นมากๆ ไม่มีการกอดลา แต่เรารู้ว่าพี่ชายคงเอาใจช่วยและอวยพรเราอยู่ที่อีกฝั่งหนึ่ง และเราก็หวังว่าเขาจะมีชีวิตที่ดีเช่นกัน

- อีกฉากที่ชอบคือตอนเพลง To Find You อันนั้นทำงานดีมาก น้ำตาซึมเลย ฮือออ (ไปดูเองนะ)

- แต่กลายเป็นว่าเพลงที่ชอบสุดคือ Riddle of the model 5555 โคตรดี

- ประเด็นเรื่องโรงเรียนเราเฉยๆ ชาวไทยก็อาจจะเฉยๆ เพราะแต่ละคนเจอมาหนักกว่านี้แน่นอน และเจ้าเด็กในเรื่องก็ตอบโต้ครูไม่แซ่บเท่าที่ฮอร์โมนได้ทำเอาไว้ กะอีแค่ให้ใส่รองเท้าดำ จะไปสู้บัตตาเลียนกร้อนผมตอนเช้า กับเอาปากกาเคมีเขียนขากางเกงได้ยังไง

- ในตอนท้ายของหนัง ที่ขึ้นคำอุทิศให้ว่า To all brothers เลยอยากให้เปลี่ยนเป็นเวอร์ชั่นเมืองไทยว่า "แด่ทุกโรงเรียนในประเทศนี้" เย้

- น้อง Ferdia ก็ดีนะ ยิ่งช่วงท้ายๆ ที่น้องจับกีตาร์ร้องเพลงไปด้วยนั่นยิ่งดี แต่เอม่อน (Mark McKenna) นี่คือเท่สุดๆ แล้ว โอย ขอตามเป็นติ่งน้อง

- ทั้งหมดทั้งมวลคือการสรรเสริญ ชวนให้ไปดู ถ้าไม่ได้ชอบเพลง คุณจะสนุกกับหนัง แต่ถ้าชอบหนัง คุณจะรักเพลงตามไปด้วย ดี ไปดูเถอะ

The Propaganda Game: ความจริงที่ไม่อยากให้จริง

The Propaganda Game
(2015, Álvaro Longoria, B+)





เพิ่งดูเรื่องนี้จบใน Netflix ผู้กำกับหนังชาวสเปน Alejandro Cao De Benós เขาสนใจในประเทศเกาหลีเหนือ เขาอยากเห็นความเป็นอยู่ข้างในประเทศลี้ลับนั้น และทำเป็นหนังสักเรื่อง เขาเลยติดต่อขอความช่วยเหลือจาก Alejandro Cao De Benós ชาวสเปนที่คลั่งไคล้ลัทธิคอมมิวนิสต์แบบเกาหลีเหนือตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น จนสานต่อความฝัน แล้วเข้าไปทำงานในฐานะผู้แทนพิเศษด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเกาหลีเหนือ เคยเห็นพี่คนนี้อยู่บ่อยครั้งเวลาเข้าไปดูคลิปเกี่ยวกับกับหลีเหนือ แกเหมือนเป็น Spokeperson เป็นทีมพีอาร์ของประเทศไปแล้ว

Alejandro ให้ทีมงานของ Alvaro เข้ามาถ่ายทำในเกาหลีเหนือได้ โดยมีข้อแม้ (เหมือนกับพวกนักท่องเที่ยวอื่นๆ ที่เข้าไปเที่ยวในเกาหลีเหนือนั่นแหละ) ว่าคณะของ Alejandro จะต้องอยู่กับทีมถ่ายทำตลอด จัดคอร์สพาไปเที่ยวที่ต่างๆ ให้ ทีมงานไม่สามารถเดินเพ่นพ่านถ่ายอะไรตามใจชอบได้ และแทบจะไม่ปล่อยให้ทีมงานอยู่ตามลำพังเลยด้วย ตามคุมตลอด แต่เราว่าก็คุ้มนะ เพราะด้วยความเส้นใหญ่ของพี่ Alejandro ทำให้หนังสามารถพาเราเข้าไปดูหลายๆ ที่ที่ไม่ค่อยได้เห็นในสารคดี หรือคลิปเกี่ยวกับเกาหลีเหนือบ่อยๆ อย่างเช่นภายในมหาวิทยาลัยคิมอิลซอง หรือในโบสถ์คริสต์ในเมืองเปียงยาง เออ มันมีโบสถ์คริสต์ด้วยอ่ะ งงใช่ป่ะล่ะ

เราชื่นชมวิธีการของผู้กำกับที่จะทำให้ได้มาซึ่งภาพ และคำตอบหลายๆ อย่างที่เขาต้องการ โดยวิธีการที่เขาใช้นั้นไม่ดุดันนะ สังเกตวิธีการตั้งคำถามของ Alvaro ต่อการสัมภาษณ์ทั้งคนเกาหลีเหนือเอง หรือจะ Alejandro นั้นเป็นไปด้วยความเคารพและสนใจใคร่รู้ คือเรารู้แหละว่าเขาฝมองประเทศนี้ไว้ยังไง เพียงแต่วิธีการตั้งคำถาม และการปฏิบัติต่อคน และสิ่งที่เขาเห็นมันไม่ได้เป็นไปเพื่อเมคฟัน เพื่อหาภาพเวียร์ดๆ มาสนองความศิวิไลซ์ของตัวเอง แล้วกดคนที่นั่นให้ต่ำลงหรือเป็นตัวตลกไป เอาจริงๆ ถ้าจะมีใครในหนังดูตลก ก็คงเป็นตา Alejandro นั่นแหละ กับบางครั้งที่เขาไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ และเริ่มไม่แน่ใจในสิ่งที่เขาเชื่อ จนหาเหตุผลมาสนับสนุนความคิดไม่ทัน ตรงนั้นแหละที่น่าสงสารเขาที่สุด

แรกทีเดียวเราดูเรื่องนี้เพราะแค่อยากเห็นภาพอันหายากข้างในประเทศเกาหลีเหนือแค่นั้นแหละ ก็อยากจะเสพความเอ็กโซติก แต่พอตั้งใจดู ตามหนังไปเรื่อยๆ ก็เริ่มหดหู่ปนเศร้า ภาพในเมืองเกาหลีเหนือคมชัดสวยงามระดับ HD (แค่นี้ก็คุ้มแล้วนะ) ที่ที่หนังพาไปเราเคยได้เห็นในภาพนิ่ง หรือคลิปตามยูทูปบ้าง แต่กองถ่ายทำแบบนี้ยังไงก็ให้คุณภาพภาพที่สวยงามกว่าอยู่แล้ว หลายๆ ทิวทัศน์ในเปียงยางสวยมาก และเราได้เห็นมุมที่ผู้คนออกมาใช้ชีวิต แบบที่ไม่ค่อยได้เห็นเท่าไหร่ เห็นประชาชนที่อ้วนๆ สองสามคน (ชอบมีคำพูดทำนองว่า ทั้งประเทศ มีแต่คิมจองอึนเท่านั้นแหละที่อ้วน วันนี้เห็นคนอ้วนคนนึงละ 555) เห็นเด็กๆ เล่นโรลเลอร์เบลด (ใช่ ที่เราเคยฮิตกันเมื่อเกือบยี่สิบปีมาแล้ว) อยู่ในสวนสาธารณะ มีอากง อาม่า เต้นออกกำลังกาย เห็นอีกมุมที่ไม่ค่อยได้เห็น เกาหลีเหนือในความคิดของเรามันเลยเริ่มมีมิติมากขึ้นนะ แต่ก่อนจะมองมันค่อนข้างแบน

แต่ในภาพที่ดูธรรมดานั้นมันไม่ธรรมดาหรอก ยิ่งถ้ามองจากคนที่อยู่ข้างนอก แค่เห็นการแต่งตัว ตึกรามบ้านช่องในนั้น ยังไงมันก็แปลก แต่ถ้าเราเป็นคนข้างใน ที่โตมาแบบเชื่อฟังไม่ออกนอกลู่นอกทาง ไม่เคยเห็นอะไรข้างนอก ไม่เคยตั้งคำถาม ชีวิตพวกเขาก็คงมีความสุขดี เราไม่รู้ความคิดของคนเหล่านั้น เพราะเขาไม่เปิดโอกาสให้สัมภาษณ์ลงลึกกับประชาชนคนเดินถนนได้มาก มีคำถามเดียวที่เข้าใกล้ความออกนอกลู่ และเสียวจะโดนลบฟุตเทจมากที่สุด คือตอนที่ Alvaro ผู้กำกับ ถามเด็กหนุ่มอดีตทหารที่ตอนนี้กำลังเรียนมหาวิทยาลัยด้านวิศวกรรมรถไฟ ว่า "ความฝันของเขาคืออะไร" เด็กหนุ่มคนนั้นอึ้งไป อึ้งแบบอึ้งจริงๆ ว่า แล้วความฝันของเขาคืออะไร ก่อนที่จะยิ้มๆ แล้วบอกว่า เขาคงอยากทำงานเป็นวิศกรรถไฟ เพื่อรับใช้ท่านผู้นำ เป็นคำตอบที่ทำให้โล่งใจกันไปทุกฝ่าย ไม่ว่ามันจะออกมาจากใจของเขาจริงหรือไม่ก็ตาม

ในช่วงท้าย หนังตั้งคำถามว่า ถ้าเกาหลีเหนือล่มสลายขึ้นมา โลกจะเป็นอย่างไร คำตอบที่โหดร้าย แทบจะจากทุกคนที่ให้สัมภาษณ์ ต่างก็พูดไม่ต่างกันว่า ไม่มีใครอยากให้เกาหลีเหนือล่มสลาย โดยเฉพาะพวกผู้เล่นเบอร์ใหญ่ๆ อย่างจีน อเมริกา รัสเซีย ญี่ปุ่น หรือแม้แต่เกาหลีใต้เองก็ตาม การดำรงอยู่ของรัฐที่ละเมิดและลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์อยู่ทุกวี่วัน สร้างผลประโยชน์มหาศาล และในอีกทาง ก็ไม่เป็นภาระให้กับประเทศเบอร์ใหญ่พวกนี้ พวกเขาจึงยังต้องรักษาความเป็นเกาหลีเหนือเอาไว้ และเล่นเกม Propaganda เกมที่เกาหลีเหนือทำกับประชาชนของพวกเขา สร้างตัวร้าย ตัวตลก ตัวประหลาดอย่างเกาหลีเหนือขึ้นมา และรักษาเจ้าตัวประหลาดตัวนี้เอาไว้ ตราบใดที่ยังไม่มีใครสมประโยชน์กันซักที

บทสรุปหนึ่งที่ผู้ให้สัมภาษณ์พูดเอาไว้จึงสะท้อนความจริงได้ดี เธอคนนั้นบอกว่า บางที คนกลุ่มเดียวที่อยากเห็นการล่มสลายของเกาหลีเหนืออย่างจริงจัง ก็คงจะมีแต่ประชาชนของเกาหลีเหนือเองเท่านั้นเอง

น่าเศร้านะ


All Things Must Pass: ขอบคุณที่ครั้งหนึ่งเราเคย

All Things Must Pass: The Rise and Fall of Tower Records
(2015, Colin Hanks, A+)



ก่อนไปดูก็คิดนิดหน่อยว่าเราจะอินกับหนังมากมั้ย เพราะถึงจะเคยไปเหยียบ Tower Records ที่สยามประมาณสองครั้งถ้วน และได้อุดหนุนกันแค่ครั้งเดียว แต่เราก็ไม่ได้มีความผูกพันอะไรกับที่นี่อีก เราไม่ได้เป็นคอเพลงตัวยง เป็นแค่คนที่ฟังเพลงไปเรื่อยเปื่อย เราจะสนุกกับหนังได้มั้ย ยิ่งพอเห็นพี่ๆ ที่เป็นทั้งคอเพลง เป็นทั้งแฟนพันธุ์แท้ของร้าน เขาดูคึกคัก นอสตัลเจียกันสุดๆ เรายิ่งชักท้อ ว่าเอ หรือหนังเรื่องนี้จะไม่เหมาะกับเรา

แต่พอได้ดูจนจบ นั่งปาดน้ำตาป้อยๆ มองเอนด์เครดิตบนจอ ก็รู้แล้วว่า ที่กังวลมาก่อนหน้า เราคิดผิดทั้งหมด

All things must pass สำหรับเรา มันเป็นหนังที่เล่าเรื่องการสร้างแบรนด์ เป็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จโคตรๆ ของการสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่งผ่านวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแรง แนวคิดในการบริหารคนแบบ Flexible ที่เขากำลังให้ความสนใจ เป็นเทรนด์อยู่ในตอนนนี้ Tower Records ทำให้เราเห็น ว่าพวกเขาใช้วิธีนี้มาแต่ไหนแต่ไร เป็นหนังที่เล่าเรื่อง Leadership ที่จะเอาไปเปิดในคลาสสอนผู้บริหารองค์กรก็ยังได้ และสุดท้ายคือมันเป็นหนังที่บันทึกยุคสมัย ที่ต่อให้เราไม่ได้มีความทรงจำร่วมกับ Tower Records ซักเท่าไหร่ แต่เราก็ยังรู้สึกกับสัจธรรมเรื่องความผ่านมา-ผ่านไป ที่เห็นในหนังได้อยู่ดี

เรามีความรู้สึกคล้ายๆ ตอนที่ดู The Master ของพี่เต๋อ-นวพล คือมันเป็นการเกิดขึ้น เจริญถึงขีดสุด แล้วก็ดับไป ภายในไม่ถึงชั่วอายุคนของสิ่งสิ่งหนึ่ง แต่ในการเกิดขึ้นของมัน แม้จะดับมอดไปแล้ว ได้เป็นหมุดหมายที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ทั้งต่อภาพใหญ่ คือวัฒนธรรมการฟังเพลง/ดูหนัง ไปจนถึงภาพเล็ก คือต่อคน ที่ไปเปลี่ยนชีวิตเขา ไม่ว่าจะในทางที่ดีหรือร้าย แต่มันก็เป็นชิ้นส่วนประกอบประกอบขึ้นเป็นตัวตนคนนึง ในช่วงชีวิตนึงเลยน่ะ

การเติบโตและเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยคงเป็นหัวใจของหนังเลยมั้ง ผู้เล่าเรื่องทุกคนเป็นลุง เป็นป้า หรืออาจจะเป็นย่าเราเลยก็ได้ แต่ในแววตาระหว่างที่เล่าเรื่องนั้นพวกเขาเป็นวัยรุ่นหมด เขาโตขึ้นจากวันที่เป็นเด็กวัยห่ามเข้ามาทำงานเพื่อเอามันส์มากกว่าจะเอาเรื่องเงินเป็นตัวตั้ง ตัวเราในตอนนั้นมันมีแต่ไฟ มองเห็นแต่ความสนุกตรงหน้า หมดเดือนได้รับเงินมา เอาไปกินดื่มให้สุขี เรามองเห็นแค่นั้นแหละ แต่พอโตขึ้น พวกลุงๆ ก็เติบโต ก็ได้สวมหัวใหม่ ตำแหน่งใหม่ จากมองแค่สิ่งตรงหน้า กลายเป็นต้องมองลงมา จากเคยเป็นแต่ผู้รับ กลายมาเป็นผู้จ่าย ทำยังไงให้ชีวิตมันซับซ้อนขึ้น ความรับผิดชอบมากขึ้น จะทำยังไงให้ความสนุกในตัวเราไม่หายไป

เราชอบลีลาการเล่า ที่แม้จะพูดถึงเรื่องเศร้า แต่มันไม่เศร้า มันบ้า มันกวน มันมีชีวิตชีวา วิธีที่เขาปฏิบัติกับตัวละครก็เหมือนกัน เขาเล่าแบบที่ให้เรารักทุกคนที่เห็นบนจอ คือคนเราพอเลิกกันไปแล้ว เราก็มาคุยกันในเรื่องดี ของวันเก่าๆ กันเถอะ อย่าง รัสส์ โซโลมอน ผู้ก่อตั้ง Tower Records เขาคงเป็นมนุษย์ที่มีทั้งดีและไม่ดี แต่หนังเลือกที่จะเล่าด้านที่ทำให้เราจะรักปู่คนนี้ ทำให้เรารู้สึกว่าแกแม่งเจ๋ง แกแม่งบ้า ถึงแกจะบริหารธุรกิจจนเจ๊งไม่เป็นท่า แต่แกก็เป็นคนที่น่ารัก เป็นคนที่เราอยากจะจดจำ

จริงๆ มันมีประเด็นเบี้ยบ้ายรายทางที่เย้ายวนให้หนังว่อกแว่กและออกนอกลู่นอกทางมากเลยนะ แต่หนังไม่เสียสมาธิไปกับอะไรพวกนั้น ยังคงเลือกสิ่งที่อยากให้อยู่ในหนัง กรอบมันเอาไว้ให้ไปตามทาง เราว่าธงเขาชัดเจนดี จะเล่าแค่นี้ แบบนี้ แต่มันเป็นรสชาติที่อร่อยดี ครบถ้วนดี ไม่รู้สึกว่าขาดสารอาหารส่วนไหนไป

มีสองอย่างที่นึกถึงตอนดู อย่างแรกคือร้านขายเทปเพลง และวีซีดีหนังที่เซ็นทรัลปิ่นเกล้า เป็นร้านสีเขียวๆ หน้าตาบ้านๆ เป็นร้านประจำสมัยเรียนของเรา เหมือนที่เอลตัน จอห์น บอกไว้ในหนัง ว่าการไปเดิน Tower Records ถือเป็นพิธีกรรม เราก็ทำแบบนั้นแหละ แต่เดินที่ร้านเขียว ซื้อรึเปล่าไม่รู้นะ แต่ต้องเข้าไปเช็คซะหน่อยว่ามีอะไรมาใหม่บ้าง ถ้าเป็นเด็กสยามคงไปเดินทาวเวอร์, หรือร้านดีเจสยามอะไรแบบนั้นไง แต่เราเด็กฝั่งธน ก็มีร้านเขียวขายของแมสๆ บ้านๆ แบบนี้แหละเป็นที่พึ่ง
อุดหนุนกันมาตลอดจนถึงจุดที่อยู่ดีๆ ตัวเราก็เริ่มเบื่อการซื้อเทปและซีดี มีวิธีการในการหาเพลงฟังในรูปแบบอื่น (คิดถึงโปรแกรม Soulseek มาก) เรากับร้านเขียวก็ห่างกันไป ไม่ได้ติดตามละ แถมยังย้ายไปอยู่ไกลจากเซ็นปิ่น ก็ยิ่งไม่ได้แวะเวียนเข้าไปใหญ่ ล่าสุดไปก็ไม่เจอร้านนี้แล้ว คงหมดอายุขัยของมัน

อีกอย่างที่คิดถึง และน่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราเชื่อมโยงกับหนังมากกว่าเรื่องวงการเพลง หรือความเป็นทาวเวอร์เรคคอร์ดส์หรืออะไร คงเป็นการนึกถึงความสนุกในการทำงาน ครั้งนึงเราก็เคยเป็นวัยรุ่นที่แม้จะไม่ห่ามขนาดพี้ยาอยู่หลังร้าน (แถมยังเบิกค่ายากับบริษัทด้วย เลวสัสๆ (ชม)) แต่ก็พลุ่งพล่านใช้ได้เลยแหละ โชคดีที่ครั้งนึงเคยได้ทำงานในทีมที่มันสนุกมากๆ ผู้นำก็ดี มีพื้นที่ให้เราได้ลองทำอะไรเยอะยะ ดีบ้าง เละบ้าง แต่มันเป็นวัฒนธรรมของทีมที่สนุก สนุกแบบที่เราไม่คิดว่าวันนึงมันจะพังพาบไม่เหลือร่องรอยไปเลยได้

มีตอนนึงที่ผู้ให้สัมภาษณ์พูดประมาณว่า ที่ทำงานของเขามันไม่เหมือนเดิม เออ เราเข้าใจความรู้สึกลุงนะ คือเราออกไปได้เลยเพราะมันไม่ใช้ที่ที่เราเคยสนุกกับมันแล้ว ด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ เมื่อความเปลี่ยนแปลงเข้ามาเยี่ยมเยือน เราก็อาจจะรู้สึกไม่สบายใจกับที่ที่เราเคยสบายใจกับมันที่สุดแล้วอ่ะ แต่ให้เราเสียใจกับการจากหายไป อาจจะยังดีกว่าต้องเสียใจที่มันเปลี่ยนไปไม่เหลือเค้าเดิม

เลยคิดว่าที่ร้องไห้ คงเป็นเพราะเอาตัวเองเข้าไปแทนค่าในหนังมากไปหน่อย (อินสัสๆ) แบบเราเคยได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความสนุกสัสๆ ได้เห็นตั้งแต่มันก่อตั้ง มันพีค จนมันหายไป ดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่ง แม้จะเดินออกมาก่อน แม้ว่ามันจะสูญสลายไปแล้ว แต่เราก็จำได้แต่ด้านที่มีแต่คำขอบคุณจะมอบให้ คุณลุงในเรื่องเล่าถึงนาฬิกาแทนคำขอบคุณที่เขาได้ แต่ในน้ำเสียงและแววตาของลุงมีแต่คำขอบคุณมอบกลับไปยังผู้ให้มากกว่า

นั่นเลยเป็นเหตุผลว่าทำไมเรารู้สึกกับหนังมาก และยังเชียร์ให้ใครก็ได้เข้าไปดูเรื่องนี้เถอะ ต่อให้คุณไม่ฟังเพลง ไม่ซื้อซีดี ไม่รู้จักร้านนี้เลย คุณก็จะได้แง่มุมอื่นจากมันกลับไปอยู่ดี และที่สำคัญคือมันสนุก แค่ได้ดูหนังเรื่องนึงที่มันสนุกก็พอแล้ว ไปดูเหอะ