KONY 2012: แคมเปญคิดใหญ่ บทพิสูจน์ความเป็นหมู่บ้านโลก

10:37 PM NidNok Koppoets 2 Comments


มันเริ่มต้นจากที่ฉันได้เห็นคลิป KONY 2012 จากหน้า News Feed ใน facebook มีทั้งจาก Page ของต่างประเทศที่ฉันได้ผูกสมัครรักใคร่เป็นแฟนกันเอาไว้ รวมทั้งจากเพื่อนและรุ่นพี่ที่รู้จักกัน ด้วยความสนใจฉันจึงลองคลิกเข้าไปดูวิดีโอที่มีความยาวกว่า 30 นาที จัดทำโดยกลุ่ม Invisible Children จนเมื่อดูจบ ฉันก็รู้สึกว่า อยากรู้จักมันให้มากกว่านี้


'KONY 2012' คือแคมเปญที่จัดขึ้นโดยกลุ่ม Invisible Children มีเป้าหมายคือเพื่อทำให้ โจเซฟ โคนี (Joseph Kony) กลายเป็นคนดัง เป็นคนที่ใครๆ ก็รู้จัก ไม่ใช่เพื่อยกย่องเขา แต่จะทำเพื่อหาแนวร่วมในการสนับสนุนการจับกุมอาชญากรคนสำคัญของโลกคนนี้ และเพื่อให้เกิดเป็นบรรทัดฐาน เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นบนโลก

มันเป็นความหยิ่งผยองและความเชื่อมั่นในตัวเองอย่างที่สุดของมนุษย์ ที่จะสามารถมีความคิดใหญ่ๆ เช่นนี้ได้ แต่คำพูดทำนองนี้ของฉันอาจจะดูเชยเกินไปในโลกยุคที่ประชากรส่วนใหญ่ของโลกใช้ชีวิตร่วมกันอยู่บนพื้นที่สังคมออนไลน์ เรามีประเทศมหาอำนาจเสมือนจริงอย่าง Facebook ที่ข้องเกี่ยว ผูกพันกับวิถีชีวิตของเราตั้งแต่เช้ายันเราเข้านอน (บางครั้ง Notification ของมันยังปลุกเรากลางดึกด้วยซ้ำ) เรามีเว็บไซต์อย่าง Youtube และ Vimeo ให้เราโพสต์คลิปวิดีโอ และแบ่งปันให้คนที่ชอบในสิ่งเดียวกับเรา หรือกำลังมองหาอะไรบางอย่างได้เข้ามาชม หลายคนมีชื่อเสียงขึ้นมาได้ก็จากเครือข่ายสังคมออนไลน์เหล่านี้ ดังนั้น มันคงไม่ใช่ความคิดที่เป็นไปไม่ได้เสียเลย ที่จะทำให้อาชญากรของโลกคนหนึ่ง กลายเป็นที่รู้จัก ทำให้คนที่ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยใส่ใจ อย่างน้อยที่สุด ได้ลองค้นหาคำว่า KONY 2012 ในหน้า Google หากจะดียิ่งไปกว่านั้น คือเริ่มค้นหาข้อมูล ทำความเข้าใจ ก่อนที่จะตัดสินใจว่า เราจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญนี้ดีหรือไม่


จากการลองค้นหาข้อมูลเพื่อทำความรู้จัก KONY เพิ่มเติม ก็ได้ใจความประมาณว่า Joseph Kony เป็นหัวหน้ากองกำลังต่อต้านของพระเจ้า (Lord's Resistance Army หรือ LRA) ซึ่งกองกำลังที่ว่านั้นต้องการจะยึดอำนาจจากรัฐบาลยูกันดาในปัจจุบัน เขาและกลุ่มของเขามีอุดมการณ์ทางศาสนาคริสต์ที่รุนแรง และต้องการปกครองประเทศยูกันดาด้วยความเชื่อดังกล่าว และเพื่อการดำรงอยู่ของ LRA พวกเขาสร้างกองกำลังด้วยการบังคับให้เด็กๆ มากกว่าหกหมื่นคนเข้ามาจับปืนและต่อสู้ เด็กผู้หญิงบางส่วนถูกจับมาเป็นเครื่องมือทางเพศ ส่งผลให้เกิดความไม่สงบทางตอนเหนือของยูกันดา รวมถึงคองโก และซูดาน เป็นเวลานานกว่า 20 ปี มีประชาชนที่ต้องอพยพพลัดถิ่นนับล้าน รวมถึงปัญหาความยากจนและขาดสารอาหารด้วย

จาก WikiPedia เล่าว่า ในการลักพาตัวเด็กๆ มาเป็นกองกำลังของ LRA นั้น ส่วนใหญ่แล้ว Kony และกองกำลังของเขามักจะสังหารครอบครัวและเพื่อนบ้านของเด็ก เพื่อบังคับให้เด็กไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากเข้ามาร่วมต่อสู้เพื่อเขา นอกจากนั้น Kony ยังให้เด็กๆ ทำสัญลักษณ์กากบาทวาดด้วยน้ำมันไว้ที่หน้าอกเหมือนกับเขา เพราะเขาเชื่อว่า สัญลักษณ์ดังกล่าวช่วยป้องกันกระสุนได้

"มันผิดหรือ? นี่ไม่ใช่การต่อสู้กับสิทธิมนุษยชน และบัญญัติ (หมายถึงบัญญัติ 10 ประการ: 10 Commandments) นั้นก็ไม่ได้มาจากเรา ไม่ได้มาจาก LRA แต่พระบัญญัตินั้นพระเจ้าทรงประทานให้กับพวกเรา" Kony กล่าวเพื่อปกป้องการกระทำของเขา (บทสัมภาษณ์จาก Times Online)

ในปี 2005 ศาลอาญาระหว่างประเทศในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้ตั้งข้อหาว่า Kony เป็นอาชญากรสงคราม แต่จนถึงตอนนี้เขาก็ยังไม่ได้รับการจับกุม สหรัฐอเมริกาเองก็ได้ส่งกองกำลังเข้าไปแล้วเช่นกัน และถ้าเข้าใจไม่ผิดจากการดูคลิปที่ว่านั้น การที่โอบามาตัดสินใจส่งกองกำลังเข้าไป ก็เป็นผลมาจากแรงกดดันจากประชาชนที่รับรู้ และออกมาเคลื่อนไหวเรื่องการจับกุม Kony และจะต้องเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง และส่งให้เกิดแรงกระเพื่อมกินวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้มีคนรู้เรื่องนี้มากที่สุด เพื่อไม่ให้กองทัพสหรัฐฯ ยุติภารกิจดังกล่าว จนกว่าจะจับกุมตัว Kony ได้สำเร็จ


หากมาร์แชล แม็กลูฮาน (Marshall McLuhan) ยังอยู่ วันนี้เขาคงได้เห็นภาพของหมู่บ้านโลก (Global Village) กับตาตัวเอง และคงล้ำหน้าไปไกลกว่าที่เขาจินตนาการไว้อยู่มากโข แคมเปญ KONY 2012 ทำงานอย่างทรงพลังอยู่บนพื้นที่ยิ่งใหญ่ที่ไม่ใช่แผ่นดิน แต่คือเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ใหญ่กว่าอเมริกาทั้งประเทศ แนวคิดของ Global Village ที่เคยถูกพูดไว้เมื่อกว่าสี่สิบปีก่อน เริ่มเห็นเป็นจริงเป็นจังก็คราวนี้ โลกถูกเชื่อมเข้าหากันจนกลายเป็นหมู่บ้าน ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัยและครบถ้วน พวกเขามีเว็บไซต์ www.kony2012.com เป็นศูนย์กลางหลัก และครบถ้วนด้วยสื่อที่มีข้อเด่นแตกต่างกันไป เขามีคลิปหนังสั้น KONY 2012 โพสต์ใน Youtube และ Vimeo ที่มีผู้ชมมากกว่า 20 ล้านคนในเวลาไม่ถึง 3 วัน (โพสต์เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2555) และถูก Share ต่อในทุกสื่อสังคมออนไลน์ ดังเช่นที่ฉันได้เห็นจากในเฟซบุ๊กของฉันเอง 

จากนั้น KONY 2012 ก็ให้เหล่า Culture Maker (นี่คือคำที่เขาเรียกในคลิป) หรือจริงๆ ก็คงเป็นพวก Influencers หรือ Celebrity ของแต่ละวงการ พูดถึงแคมเปญนี้ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อออนไลน์ เพื่อดึงให้คนอีกจำนวนหนึ่งเข้ามารู้จัก คู่ขนานไปกับการส่งข้อเรียกร้องไปยังกลุ่ม Policy Maker หรือกลุ่มที่มีบทบาททางสังคม เพื่อกระตุ้นให้พวกเขาออกมาทำอะไรบางอย่างในทางปฏิบัติ โดยใช้พลังมวลชนเป็นคนกดดัน 


Visibility เป็นสิ่งสำคัญ แคมเปญนี้พิมพ์โปสเตอร์ และสติ๊กเกอร์สีจัดจ้านออกมาเป็นจำนวนมากเพื่อติดไว้ให้คนเห็นตามจุดสำคัญๆ ต่างๆ (ยังไม่เห็นในเมืองไทยนะ) มีการทำ Action Kit จำหน่ายให้ผู้ที่ต้องการแสดงออกว่าเป็นแนวร่วมได้มีไว้ครอบครอง ซึ่งในชุดที่ว่าก็มีทั้งคู่มือ โปสเตอร์ เสื้อ สติ๊กเกอร์ เข็มกลัด และสร้อยข้อมือ ทั้งหมดนี้ราคา 30 เหรียญ เป็นไปได้ว่าถ้ากระแสมาแรงจริงๆ เราอาจจะได้เห็น สร้อยข้อมือ KONY 2012 เกลื่อนเมืองไทย เหมือนสมัยที่เราใส่ริสแบนด์ LiveStrong สีเหลืองกันให้เอิกเกริกในยุคหนึ่ง


คือเอาจริงๆ ฉันก็ไม่แน่ใจนักว่าแคมเปญนี้สุดท้ายมันก็จะกลายเป็นแค่เทรนด์ที่ถ้าใครไม่รู้จัก หรือไม่ได้มี Action Kit เอาไว้ครอบครองจะถือว่าเชยระเบิดรึเปล่า แล้วก็ไม่แน่ใจอีกด้วยว่าถ้าเราบริจาคเงินไปแล้วมันจะถูกเอาไปช่วยเหลือใคร ยังไง ในแง่ไหน แต่ที่สนใจขึ้นมาก็อาจเป็นเพราะนี่เป็นอีกครั้งที่เครือข่ายสังคมออนไลน์มันมีบทบาทจริงๆ ในการคิดใหญ่ ทำใหญ่ ที่แตกต่างจากการปฏิวัติดอกมะลิในโลกอาหรับตรงที่ เครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) ถูกนำมาใช้อย่างจงใจ เป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสารให้แคมเปญนี้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เพื่อให้เกิดแรงกระเพื่อมก็ส่วนหนึ่ง เพื่อเป็นแรงบันดาลใจก็ส่วนหนึ่ง และเพื่อให้เป็นเทรนด์ ก็ส่วนหนึ่ง
 
อย่างเว็บ 9gag.com ที่ได้ชื่อว่ากวนตีนที่สุดในโลกเว็บหนึ่ง ยังพูดถึงแคมเปญนี้ แต่ก็ไม่ลืมที่จะเสียดสีตามสไตล์เขา ซึ่งฉันเองก็เห็นด้วยอยู่ เราได้แต่บอกว่าเราจะช่วย เราจะแชร์ให้ KONY 2012 เป็นที่รู้จัก แต่ยูกันดาอยู่ตรงไหนในแผนที่โลก เราก็ไม่รู้หรอกนะ :P 



จริงๆ แล้ววิธีที่เราจะแสดงออกต่อโลกนี้มีอยู่มากมายหลายอย่าง แต่เครือข่ายสังคมออนไลน์ทำให้เราสบายขึ้น เพราะเรารู้ว่า วิธีที่ง่ายที่สุดที่เราสามารถทำได้ก็คือการ Share ต่อ เพื่อให้เรื่องนั้นๆ ถูกแพร่ขยายออกไป มีคนเห็นมันมากขึ้นและอยากจะ Share ต่อเหมือนเรา เรื่องที่เราเห็นจากที่ที่แสนไกล อาจกลายมาเป็นแรงบันดาลใจบางอย่าง หรืออาจเป็นบทเรียนสำคัญ ให้เราสังเกต เรียนรู้ และหันกลับมามองสิ่งใกล้ตัว ก่อนที่จะเริ่มต้นคิดการใหญ่ มาเปลี่ยนแปลงอะไรให้ดีขึ้น สร้างแรงกระเพื่อมให้โลกนี้ อีกครั้ง และอีกครั้ง :)


หนังสั้น KONY 2012 (ความยาว 30 นาที)
กำกับโดย: Jason Russel



หรือถ้าไม่มีเวลาจะดูมากถึงครึ่งชั่วโมงขนาดนั้น ลองดูคลิปนี้ก็ได้สั้นและกวนมากๆ :P




*ข้อมูลเรื่อง Joseph Kony ส่วนใหญ่แปลจาก Wikipedia ค่ะ