Timeline จดหมาย ความทรงจำ: ความเศร้าสำเร็จรูป

2:55 PM NidNok Koppoets 0 Comments


Timeline จดหมาย ความทรงจำ 

(2014, นนทรีย์ นิมิบุตร, สหมงคลฟิล์ม, C) 


แม่ผู้ยังคงทุกข์เศร้าอยู่กับการจากไปของสามีอันเป็นที่รัก กับลูกชายคนเดียวที่เป็นดั่งตัวแทนของพ่อที่ล่วงลับ เมื่อเติบโตขึ้นก็ปีกกล้าขาแข็งอยากออกไปเห็นโลกภายนอกบ้าง จึงตัดสินใจด้วยตัวเองไปเรียนที่กรุงเทพฯ เมืองหลวงเปลี่ยนแปลงวิธีคิด วิถีชีวิตของไอ้หนุ่มหลังเขาอย่างเขาไปเยอะ เขามีความรัก เมีคนมารักเขา แถมยังต้องค้นหาว่าตัวเองชอบอะไร อยากทำและอยากเป็นอะไรตามสไตล์นักศึกษาไทยที่มักจะรู้ตัวช้า (หรือไม่รู้ตัวเองเลย) อีกหลายเรื่องราวเกิดขึ้น แล้วขมวดสู่ตอนจบที่จะว่าเซอร์ไพรส์ก็พูดได้ไม่เต็มปาก แต่มันก็เดินตามทางหนังรุ่นพี่ที่เป็นแรงบันดาลใจสู่การสร้างเรื่องนี้อย่าง The letter (2005) ในแบบที่ว่า ถ้าเตรียมใจมาจากบ้านแล้วก็จะเดาออกว่าอะไรจะเกิดขึ้น 


ตัวมัทนา ที่รับบทโดยป๊อก ปิยธิดา ถูกตีความให้ต่างไปจาก ดิว ใน The Letter อยู่เยอะเหมือนกัน เพราะเท่าที่จำได้ เพราะดิวในตอนท้ายของ The Letter นั้นดูเหมือนว่าจะสามารถใช้ชีวิตอย่าง "เข้าใจ" ได้แล้ว มันเลยค่อนข้างจะเซอร์ไพรส์มากที่ได้เห็นดิวในอีก 18 ปีให้หลัง ที่ยังคร่ำครวญและพร้อมที่จะต่อมน้ำตาแตกได้ทุกเมื่อเมื่อคิดถึงสามีที่จากไปของตน ซีนที่พิลึกพิลั่นมากสำหรับเราคือตอนที่มัทนาคุยกับจูน ที่เพิ่งเจอกันครั้งแรกที่บ้าน แล้วก็ร้องไห้เมื่อเล่าถึงธันว์ สามีของเธอและพ่อของแทนให้จูนฟัง สำหรับเรามันเป็นซีนที่เหลือเชื่อมากที่ผู้ใหญ่อายุขนาดนี้จะมาฟูมฟายกับเพื่อนของลูกชายที่เพิ่งเจอกัน เหมือนจะพยายามบีบคั้นตัวละครนี้มากไปหน่อย จนกลายเป็นไม่น่าเชื่อไปเลย

คิดถึงความเศร้าต่อการจากไปของผู้เป็นที่รักที่เราเชื่อมากกว่า คือบท "บัวจัน" ที่คุณเพ็ญพักตร์ ศิริกุลเล่นเอาไว้ใน Home ความรัก ความสุข ความทรงจำ (ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล, 2012) ที่พื้นฐานตัวละครคล้ายกับมัทนาใน Timeline  ความเศร้าของบัวจันไม่ต้องอาศัยความฟูมฟาย แต่น่าอึดอัดทรมาน และมีลักษณะของความ "เป็นผู้ใหญ่" มากกว่า จนดูเหมือนว่า จริงๆ แล้วมัทนาก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่ถูกบังคับให้โตขึ้นจากการแต่งงาน และเลี้ยงลูกเพียงลำพังเพราะสามีจากไป มัทนายังไม่พร้อมที่จะแบกรับความผิดชอบใหญ่หลวงขนาดนี้ เพราะใจจริงแล้วเธอเพียงอยากใช้ชีวิตคู่กับผู้ชายที่เธอรักเท่านั้น เป็นภรรยา เป็นคู่รักที่กุ๊กกิ๊กโรแมนติกต่อกันเท่านั้น ภาพเพ้อฝันเหมือนในละครหลังข่าวจบลงเมื่อเธอมีลูก แต่ไม่มีสามี เธอมีไร่สตรอว์เบอรี่แต่เธอไม่มีความรู้ เธอเป็นคนเมืองแต่ต้องมาอยู่หลังเขาเพียงลำพัง ดูเหมือนเธอจะเป็นหญิงแกร่ง แต่จริงๆ แล้วเธอก็แค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ผ่านไปให้ได้เป็นเรื่องๆ จัดการเรื่องราวที่เจอต่อหน้าให้มันผ่านไปเป็นเรื่องๆ พอหมดวัน เธอก็จะกลับไปยังโลกที่เธอสร้างขึ้นผ่านทางจดหมาย ที่ทำให้เธอรู้สึกปลอดภัยที่สุด เพราะมันเป็นที่เดียวที่ทำให้เธอรู้สึกว่าสามียังอยู่ข้างๆ และคอยช่วยจัดการทุกอย่างให้เธอ นางนี่แหละ ที่เป็นต้นแบบแห่งความอ่อนแอ และไม่รู้จักตัวเองอันถ่ายทอดไปสู่แทน ลูกชายคนเดียว ที่ต้องมาประสบปัญหาเดียวกันนี้กับแม่

แทน (จิรายุ ตั้งศรีสุข) ก็เป็นอีกตัวละครที่น่ารำคาญมาก เป็นภาพของเด็กต่างจังหวัดเมื่อยี่สิบปีที่แล้วเข้ากรุงมาแบบใสๆ ไม่ได้รู้เรื่องรู้ราวอะไรทั้งนั้น รู้จักตัวเองก็ไม่รู้ เหล้ายาก็ไม่เคยกิน มัน stereotype มากจนไม่มีอะไรเดาไม่ออกเกี่ยวกับตัวละครนี้แล้ว สเต็ปต่อไปคือต้องซื่อบื้อมากจนไม่รู้ว่าเพื่อนตัวเองแอบชอบ แล้วดันไปให้คนที่แอบชอบช่วยให้ตัวเองไปจีบผู้หญิงอื่นอีก นี่แหละ คนเรามันต้องซับซ้อนและบื้อแบบนี้แหละ แต่พอวันนึงเมื่อรู้แน่ๆ ว่าคงไม่ได้สาวรุ่นพี่คนนั้นแล้ว อกหักแล้ว ก็เพิ่งเห็นค่าเพื่อนสนิทคนเดิม ค่ะ มันต้องแบบนี้แหละ

ถ้าเอาความเป็นคณะวารสารฯ อันเป็นฉากจริงๆ ในเรื่องเป็นตัวตั้ง แล้วมาลองนึกดูในฐานะเด็กวารสารฯ เราก็มีเพื่อนที่มาจากต่างจังหวัดอยู่เยอะ แต่ทุกคนมันไม่ได้บริสุทธิ์แบบแทนเลยซักคนเดียว เป็นมุมมองของคนเมืองเองรึเปล่า ที่ยังคิดอยู่ว่าเพื่อนต่างจังหวัดเข้ามา กินเหล้าครั้งแรกแล้วจะสำลักออกมาด้วยความขมให้เราหัวเราะสนุกสนาน เท่าที่สัมผัสเอง ไอ้พวกนี้แม่งคอแข็งกว่าเราอีก น่าจะเป็นเราซะอีก ที่ถ้าได้ไปกินเหล้าต้มที่บ้านมันแล้วจะอ้วกแตกออกมา


จูน (จรินทร์พร จุนเกียรติ) เป็นตัวละครประเภทที่คนจะต้องรัก เอ็นดูในสเน่ห์และความเท่ของเธอเหลือเกิน จูนฝันอยากเที่ยวรอบโลก อยากไปไหนก็ไป อยากทำอะไรก็ทำ แต่สิ่งเดียวที่ไม่ทำคือบอกชอบคนที่ตัวเองแอบชอบ (จ้ะ) เต้ยยังคงเป็นส่วนที่ดีที่สุดของหนัง (เหมือนตอน Countdown เลย) เพราะต้องเป็นจูนที่คนเสียดายให้ได้ ไม่อย่างนั้นน้ำหนักของหนังมันจะหายไปเยอะ ซึ่งพอมานั่งคิดว่าถ้าไม่ใช่เต้ย เราจะเสียดายใครได้อีกวะ ช่วงก่อนหนังจะสร้างมีข่าวว่าจะเอา มิว นิษฐา มารับบทนี้ ถือว่าเป็นบุญของน้องมิวที่ไม่ได้เล่น เพราะคิดภาพมิวเป็นจูนที่มีเสน่ห์ไม่ออกจริงๆ และสำหรับเรา ก็ยังรู้สึกว่า ที่เรารักคือเต้ย ไม่ใช่เต้ยในบทจูน

เราไม่รู้สึกกับ Timeline เท่าที่ควร แม้จะถูกการประชาสัมพันธ์บิ๊วมาว่าต้องเสียน้ำตาแน่ๆ สำหรับเราปัญหามันอยู่ตรงที่ความเป็นสูตรสำเร็จมากเกินไปของแต่ละย่างก้าวของตัวละคร การสร้างตัวละครและสถานการณ์ด้วยมุมมองแบบคนนอกมากๆ ทำให้ทางออกของเหตุการณ์มันไม่เกินจินตนาการของคน อย่างฉากที่เป็นจุดเปลี่ยนหนึ่งของตัวแทน คือตอนที่ไปเจอจดหมายของแม่ที่เก็บไว้ในตู้ มันแค่นั้นจริงๆ เหรอที่ทำให้แทนเปลี่ยนไปเลย เออ เรายังไม่เชื่อตรงนี้ไม่ลงจริงๆ

เราว่าหนังมันขื่นกว่านี้ได้ ถ้าปล่อยให้ตัวละครมันมีชีวิตเหมือนจริงมากกว่านี้ ถ้าไม่ปล่อยให้มันเป็นไปตามสูตรสำเร็จมากขนาดนี้ เราอาจจะเศร้าและซึมไปเลยหลังออกจากโรง ถ้ามัทนาเป็นแม่ที่ไม่พร้อมจะเลี้ยงลูกเลยเพราะไม่อาจจะลืมความเศร้าจากการตายของสามี แล้วปล่อยให้ตัวเองซึมอยู่แบบนั้น ชีวิตก็พัง ไร่ก็รักษาเอาไว้ไม่ได้ กลายเป็นปมด้อยให้ลูก ที่ตั้งแต่เกิดมาก็ไม่เคยรู้สึกว่าบ้านนี้มันน่าอยู่เลย และพยายามทุกทางที่จะออกจากบ้านนี้ให้ได้ แต่พอออกมาก็เอาตัวรอดในเมืองใหญ่ไม่ได้ มันเล่าได้อีกเยอะเลยถ้าไม่ติดกับสูตรเดิมๆ ของความเป็นหนังรักเรียกน้ำตา เพราะความเศร้ามันเกิดจากกระบวนการเร้าให้มันเกิด ทั้งที่เรายังไม่ทันจะรู้สึกกับมันเลยด้วยซ้ำ


หมายเหตุ
ด้วยความที่มันพูดถึงคณะวารสารฯ เราจึงมีประสบการณ์ร่วมอยู่บ้าง ภาพที่ชอบคือรุ่นพี่เต้นบนโต๊ะอย่างบ้าคลั่งในวันแรกพบ นอกนั้นทุกอย่างแทบไม่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงในคณะเลย ถ้าน้องปีหนึ่งหน้าตาแบบเจมส์จิในเรื่องจริงๆ ล่ะก็ คงไม่ได้ถูกแต่งหน้าเป็นแมวแบ๊วๆ ใสๆ เต้นบ้าบอหรอก โดนจับถอดเสื้อแล้วมีรุ่นพี่ผู้หญิงและกระเทยดูแลอย่างใกล้ชิดแน่นอน ไม่มีการว้ากใดๆ ทั้งสิ้น อันนี้คอนเฟิร์ม