ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย : ความทรมานของการอ่านประวัติศาสตร์

8:32 AM NidNok Koppoets 0 Comments


ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย
(คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร, สำนักพิมพ์มติชน, 2557) 




ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดให้เราเห็นในปัจจุบันล้วนเป็นผลพวงที่พ่วงตามมาจากรายละเอียดแม้เพียงเล็กน้อยในอดีต หนังสือไล่ไต่เหตุการณ์มาตั้งแต่ตอนที่เราเริ่มสร้างชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาไปตามประสามนุษย์สมัยนั้น จนกลายเป็นสังคมที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ เข้าสมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี รัตนโกสินทร์ และตัวละครที่ปรากฎก็ค่อยๆ หลากหลายและมีสีสันขึ้นเรื่อยๆ แรกๆ อาจจะมีแค่ชื่อเจ้าผู้ปกครอง ขุนน้ำขุนนางชั้นสูง ตระกูลใหญ่โต แต่ยิ่งเขยิบเข้าสู่สมัยใหม่ ตัวละครที่เป็นประชาชนคนธรรมดาเริ่มมีที่ทางของตัวเองในหนังสือประวัติศาสตร์เล่มนี้ แค่พัฒนาการของการเล่าถึงตัวละครผ่านยุคสมัย ก็สะท้อนอะไรในสังคมไทยได้มาก

หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่ตำราประวัติศาสตร์หนาเตอะที่เล่าเหตุการณ์แบบละเอียดถี่ยิบ แต่กลับแยกแต่ละเหตุการณ์เป็นท่อนๆ มองไม่เห็นความเชื่อมต่อแบบที่เราเคยเรียนมา สมัยเรียนเราจำ พ.ศ. เพื่อตอบข้อสอบ และจึงปรามาสว่าการจดจำ พ.ศ. ไม่มีประโยชน์อะไรกับชีวิต แต่ถ้าอ่านหนังสือเล่มนี้ พ.ศ. จะไม่ใช่ยาขม ไม่ใช่เรื่องที่ต้องจำ แต่เราจะอยากจำและจำได้ เพราะว่ามันจะแสดงความเชื่อมโยงจากฉากต่อฉาก ทำให้เรามองเห็นเหตุการณ์ภายในบ้านเรามันเกิดขึ้นช่วงใดของประวัติศาสตร์โลก คนอื่นเขาไปถึงไหนแล้วเราทำอะไรอยู่ การจดจำปีมันน่าจะสำคัญตรงนี้มากกว่า

เมื่ออ่านจบ ก็รู้สึกอยู่สองสามอย่าง คือ ทำไมบางเรื่องเราถึงไม่เคยรู้มาก่อน ทำไมเขาไม่สอน หรือทำไมเขาไม่สอนเราแบบนี้ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่เรื่องผิดหรือน่าอายเลย อย่างที่สองคือเสียดาย ในบางช่วงเวลาที่มันจะดีจะดีแล้ว แต่มันก็พลิกต่ำลงเหวไปครั้งแล้วครั้งเล่าด้วยความต้องการอำนาจของทุกฝั่ง ฝ่าย ไม่มีใครเป็นพระเอกที่แท้ และไม่มีตัวร้ายที่ถาวร และอย่างที่สามคืออยากรู้เพิ่ม ซึ่งหนังสือก็เตรียมเชิงอรรถเอาไว้ให้เราไปค้นต่อแบบไม่อั้น และอีกนัยหนึ่ง ก็ทำให้เราเชื่อถือได้จริงๆ ว่านี่เป็นงานเขียนเชิงวิชาการที่ผ่านการค้นคว้ามาเป็นอย่างดี ไม่ได้เขียนขึ้นด้วยพื้นฐานของอคติหรือทำนองว่า "ผู้ชนะเป็นคนเขียนประวัติศาสตร์" แต่ประการใด

เราอาจจะอยากหยุดบางช่วงเวลาแห่งความโชติช่วงเอาไว้ อยากช่วยเหลือ ให้กำลังใจ เอาใจช่วยคนบางคนที่กำลังคิดและทำสิ่งดี แต่เราทำอะไรไม่ได้เลย ได้แต่นั่งอ่านบันทึกเหล่านั้นตาปริบๆ นั่นแหละ มันคือความทรมานของการอ่านประวัติศาสตร์...