JP14 EP.12: Itai - เจ็บ

8:19 PM NidNok Koppoets 0 Comments

12.
いたい
Itai เจ็บ


ความฝันที่จะได้พูดคำว่าอิไต๊กับผู้ชายญี่ปุ่นเป็นจริงแล้วค่ะ...

แม้ว่าเมื่อคืนจะจัดทั้งยากินและยานวดไปขนานใหญ่โดยหมอปุ๊กกี้ แต่เช้าตื่นมาไอ้อาการปวดข้อเท้าก็ไม่มีวี่แววว่าจะดีขึ้น อาการคือปวดที่เอ็นร้อยหวายทุกครั้งที่ก้าว พอปวดมากๆ ก็เลยต้องเปลี่ยนมาทิ้งน้ำหนักที่ขาข้างขวา จึงกลายเป็นท่ากะเผลกๆ เดินป่วนเมืองเค้าตลอดทั้งวัน ไอ้เจ็บปวดยังพอทนไหว แต่อยากให้หายทันวันศุกร์ เพราะการไปนารานี่ถือเป็นไฮไลท์ของทริปนี้ ถ้าขาไม่ไหวนี่ร้องไห้อยู่ตรงชินไซบาชิเลย 

จึงตัดสินใจว่า ไปหาหมอละกัน...

เลยเข้าไปถามเจ้าหน้าที่ที่ Tourist Information Center ตรงสถานีโอซากา เจ้าหน้าที่แกก็ช่วยเหลือเป็นอย่างดี หาคลินิคที่เจ้าหน้าที่พูดภาษาอังกฤษได้ให้เรา จากนั้นก็เขียนที่อยู่และเบอร์ติดต่อให้เสร็จสรรพ ก้มขอบคุณพี่เค้าไปห้าที แล้วออกเดินทาง 

คลินิกอยู่ห่างจากสถานีโอซากาไปไม่ไกลมาก ขึ้นมาจากสถานีรถไฟแล้วเดินต่ออีกนิดหน่อยก็จะถึง พอออกจากสถานีเราก็เดินตามลายแทงที่คุณพี่เขาให้มา แต่คลินิกโรงหมอมันไม่เหมือนสถานที่ท่องเที่ยวไง คือพอขึ้นมาจากรถไฟก็ไม่รู้แล้วว่ายังไงต่อ ป้ายบอกทางก็ไม่มี จึงต้องไปถามทางคนแถวนั้น ซึ่งคนที่เราเลือกก็คือ หนุ่มน้อยคาเรปัง

น้องผู้ชายหน้าตาดียืนซัดขนมปังแกงกะหรี่อยู่หน้าร้านสะดวกซื้อ มือก็กดมือถือเล่นไปด้วย พี่เป๋ก็เลยเดินเข้าไปสุมิมาเซน แล้วยืนกระดาษที่เจ้าหน้าที่เขียนให้น้องดู น้องคาเรปังจึงพิมพ์ที่อยู่ดังกล่าวในไอโฟน แล้วเปิดแอพพาเราเดินตามแผนที่เลย โอ๊ยยย พี่เหมือนเป็นนางเอกที่พลัดหลงมาจากจังหวัดไอสุ มาเจอหนุ่มเมืองช่วยชีวิต เราก็เดินตามน้องต้อยๆ ทุกสิบเมตรจะต้องพูดขอบคุณและขอโทษที่รบกวนน้องเพราะรู้สึกเกรงใจจริงๆ น้องก็ยิ้มให้บอกว่าไม่เป็นไรครับ แล้วก็ก้มมองโทรศัพท์ เกาหัว แล้วพูดกับตัวเอง "อยู่ไหนน้า" โอ๊ยยยย น่ารักกกกกกกกกกกกกกก

หลังจากเดินหลงไปเล็กน้อย สุดท้ายน้องก็พาพี่มาถึงหน้าคลินิกจนได้ คราวนี้ต้องก้มต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อขอบคุณน้องคาเรปังเลย ก่อนน้องเดินไปก็ขอถ่ายรูปคู่กันหนึ่งแชะ บอกน้องว่าพี่จะเอาไปเก็บไว้ในไดอารี แต่ตอนนี้ขอเก็บน้องไว้ในหัวใจก่อนนะจ๊ะ 


จากนั้นจึงเดินดุ่มเข้าไปในคลินิกนามว่า Morita Clinic (もりたクリニック) ไปที่เคาน์เตอร์แล้วแนะนำตัวว่า เรามาจากสถานีโอซากาที่เจ้าหน้าที่ติดต่อมา เท่านั้นแหละ น้องพนักงานที่เคาน์เตอร์ก็ทำหน้าแบบโลกจะแตก ชิบหายข้าศึกบุกแล้วลูกพี่ น้องผู้หญิงคนนึงบอก "ชตโตะๆๆ" (รอก่อน) เราเลยบอกว่า เออเราพอเข้าใจบ้างนิดหน่อยนะ ไม่ต้องเครียดๆ น้องเลยหยิบเอกสารมาให้เรากรอก เพื่อไปทำประวัติคนไข้ ซึ่งพอรับมาปุ๊บก็เงยหน้าแล้วยิ้มให้น้อง "วาการิมาเซน" อ่านไม่ออกเลยค่ะ

น้องคงอยากบอก อีดอกแล้วเมื่อกี๊มึงบอกว่าเข้าใจภาษากู...

จากนั้นจึงโดนส่งให้ไปนั่งรอเงียบๆ คนเดียว รอบข้างเป็นคุณตาคุณยายมารอตรวจข้อเข่า เท่าที่สังเกตคือ พอคุณตาคุณยายเข้ามา แกจะถือสมุดประจำตัวมาด้วย แล้วยื่นให้ที่เคาน์เตอร์ จากนั้นก็นั่งรอ ซักครู่หนึ่งก็จะมีเจ้าหน้าที่มาเรียกแกไปทำกายภาพบำบัด คือส่วนใหญ่ผู้เฒ่าผู้แก่ที่มาที่นี่จะมาพบ Therapist มากกว่า มีที่มาหาหมอเห็นอยู่ไม่กี่คน เป็นเด็กประถมสงสัยวิ่งเล่นจนขาเจ็บ แล้วก็น้องผู้หญิงอีกคนเดินกะเผลกๆ มาคล้ายๆ เรา 

เคยอ่านเรื่องระบบประกันสุขภาพของญี่ปุ่น ที่เข้าใจคือถ้าเกิดว่าเราจ่ายเงินเข้าระบบประกันสุขภาพ (ออกแนวประกันสังคม) เวลาเราไปหาหมอ เราก็จะเสียแค่ 30% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ถ้าเป็นเด็กหรือคนแก่อาจจะเสียน้อยกว่านั้น แต่ถ้าเราไม่จ่ายประกันสังคมรายเดือน เวลาหาหมอก็จ่ายเต็มไป ซึ่งเข้าใจว่าค่อนข้างแพง หรือถ้าคิดว่าไม่ค่อยป่วย ก็ไม่ต้องเข้าระบบเลย ไม่ต้องจ่ายเบี้ยประกัน 

และที่นั่งเจ๋ออยู่ที่คลินิกแทนที่จะเป็นโรงพยาบาลก็ถูกระบบบ้านเขาแล้ว ไม่เหมือนบ้านเราที่เป็นอะไรก็วิ่งไปโรงพยาบาลก่อน แต่ของที่นี่จะให้เข้าคลินิกซึ่งเป็นเครือข่ายของโรงพยาบาลท้องถิ่นก่อนเป็นอันดับแรก ให้หนักหน่วงจริงๆ คลินิกค่อยส่งไปโรงพยาบาล อย่างคลินิกหมอโมริตะนี่แกก็เฉพาะทางไปเลยว่ารักษาด้านกระดูกและข้อโดยเฉพาะ มีผู้เชี่ยวชาญด้านกายภาพบำบัดประจำอยู่ เจ้าหน้าที่ที่ให้บริการก็สุขภาพจิตดียิ้มแย้ม เลยเดาว่าตัวเจ้าหน้าที่เองก็คงจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีประมาณหนึ่ง ถึงได้แบ่งเอาพลังชีวิตด้านบวกมาบริการคนไข้ได้

คุณภาพชีวิตดีส่งผลต่อบริการที่ดีมีภาพเป็นอย่างไร ก็ขอให้ดูน้องพนักงานหน้าเคาน์เตอร์ ที่ตอนนี้กำลังเปิดกูเกิ้ลเพื่อนั่งแปลคำศัพท์ในเอกสารที่ว่าให้เป็นภาษาอังกฤษเพื่อเราจะได้เข้าใจ ตอนนั้นแทบอยากจะกราบน้องสามทีไม่แบมือ หนูช่างมีพระคุณต่อพี่ยิ่งนัก เชื่อแล้วว่าน้องมีหัวใจแห่งงานบริการจริงๆ

ซักพักนึง ก็มีคุณพี่ผู้หญิงผมสั้นใส่แว่นท่าทางใจดี เดินมาหา ยื่นมือให้จับแล้วแนะนำตัวว่าพี่เค้าเป็น Therapist อยู่ที่นี่นะ เป็นหน่วยกล้าตายที่สามารถสปีคอิงแลนด์กับยูได้ แนะนำตัวกันเสร็จพี่เค้าก็เอาเอกสารที่แปลเสร็จแบบสดๆ ร้อนๆ มาให้ช่วยเรากรอก แกซักประวัติทั่วไป แล้วก็ถามอาการว่าไปโดนอะไรมา ไม่คิดไม่ฝันว่าศัพท์สมัยเรียนอย่างคำว่า Korobu ที่แปลว่าหกล้ม นี่กูจะได้นำมาใช้ในชีวิตจริงที่ประเทศแม่ ถามอาการเสร็จพี่เค้าก็ขอจับข้อเท้าเราดู แกพลิกๆ หมุนๆ แล้วก็บอกว่า "อาา..เข้าใจแล้ว" เข้าใจไรวะ บอกกันมั่งดิ พี่เค้ายิ้มให้แล้วบอกว่า เดี๋ยวรอเจอคุณหมอนะ อีกไม่นาน แล้วพี่เค้าก็ปลีกตัวเข้าไปทำงานด้านในต่อ 

ระหว่างที่นั่งสวยรอหมอ อยู่ดีๆ ก็เกิดพุทธิปัญญาขึ้นมาเลยว่า "ชิบหายแล้ว ร้านนี้เขารับบัตรเครดิตรึเปล่าวะ" ว่าแล้วจึงแอบเปิดกระเป๋าตังค์สำรวจสภาพคล่องทางการเงินของตัวเองอย่างเงียบๆ ไม่ให้คุณตาที่นั่งข้างๆ จับพิรุธได้ ตอนนั้นทั้งเนื้อทั้งตัวมีเงินอยู่ประมาณ 15000 เยน แต่ต้องมีชีวิตอยู่ที่ประเทศนี้อีกสองวันเต็ม คือแค่กินก็ไม่รู้จะพอมั้ย นี่กูต้องเอามาจ่ายค่าโรงหมออีก เลยไปถามน้องที่เคาน์เตอร์ว่ารับบัตรเครดิตมั้ยน้อง ... ไม่รับค่ะ ... น้องพอจะประมาณให้ได้มั้ยว่าค่ารักษามันจะเท่าไหร่ เพราะพี่มีเงินสดไม่มาก ... น้องทำเค้าท่าคิด แล้วบอกว่า ... มันก็แล้วแต่อาการนะคะ แต่อันนี้คือ Maximum ค่ารักษาเท่าที่จะเป็นไปได้ แล้วน้องก็กดเครื่องคิดเลขยื่นให้เราดู 15000 เยน เราขอบคุณน้องเค้า แล้วบอกว่าขอไปปรึกษาเพื่อนแป๊บนึง

สิ่งแรกที่ทำคือไลน์ไปบอกปุ๊กกี้ก่อนว่า ถ้าเราจ่ายค่าหมอ พรุ่งนี้อาจจะต้องยืมเงินปุ๊กกี้ใช้นะ แล้วเดี๋ยวกลับไทยจะคืนให้ ปุ๊กกี้บอกว่าไม่มีปัญหาอะไร จากนั้นเลยโทรหาเพื่อนปอย ณ ไทยแลนด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านญี่ปุ่น ว่าเอาไงกันดีวะมึง กูว่ากูไม่หาแล้วดีกว่า เดินกะเผลกๆ แบบนี้ต่อไปนี่แหละ ตกลงกันเสร็จสรรพ ก็กลับเข้ามาในคลิกนิก กะว่าจะมาบอกเค้าว่าไม่หาหมอแล้วค่ะ ขอโทษที่สร้างปัญหาให้ ขอบคุณมากจริงๆ ขอตัวกลับก่อนนะคะ 

แต่ยังไม่ทันได้พูดอะไร ก็โดนเชิญเข้าไปพบคุณหมอแล้วค่ะ ฟะ ฟะ ฟะ ฟังกันก่อนนนน.......

เนื่องจากคลินิกนี้เป็นคลินิกเฉพาะด้าน ดูแลเรื่อง Orthopedics โดยเฉพาะ โปสเตอร์ที่ผนังก็เลยเป็นรูปกล้ามเนื้อ ข้อขาอะไรไปเรื่อยเปื่อย ซักพักคุณหมอโมริตะก็เดินยิ้มแหะๆ เข้ามา แนะนำตัว แล้วก็เริ่มสปีคกันเป็นภาษาอังกฤษแบบพอถูไถ

คุณหมอเขาถอด...ถุงเท้าเราออก แล้วก็จับ...ข้อเท้าเรา แล้วก็ถามว่าเจ็บมั้ยๆ ตรงนั้นเองที่ได้ "อิไต๊" ใส่คุณหมอไปหลายที เพราะคุณหมอกดถูกจุดมาก อยากจะสื่อสารว่าอย่าโดนเอ็นร้อยหวายหนูเลย แต่ก็ไ่รู้แปลเป็นญี่ปุ่นยังไง เอาแค่อังกฤษกูยังแปลไม่ถูกเลย ในหัวมีแต่คำว่า วันฮันเดรดวิคเกอร์มัซเซิล ก็กลัวหมอด่าว่านี่ใช่เวลาตลกมั้ย เลยเงียบๆ ไปแล้วอิไต๊อย่างเดียว 

พอหมอจับเสร็จแกก็บอกว่ากระดูกไม่เป็นไรนะ และดูเหมือนพยายามจะอธิบายอะไรต่อ แต่พูดไปได้นิดนึงแกก็ถอดใจละเพราะมันคงยากเกินกว่าจะสื่อสารให้คนที่นอกจากจะไม่เข้าใจภาษาญี่ปุ่นแล้ว คงไม่เข้าใจศัพท์ทางการแพทย์เป็นภาษาอังกฤษด้วย แกเลยบอกว่า เอาน้ำแข็งประคบบ่อยๆ นะ เอางี้ เดี๋ยวหมอสั่งกอเอี๊ยะให้ไปแปะ ว่าแล้วคุณพยาบาลก็เอาแผ่นแปะบรรเทาปวดขนาดใหญ่เท่าหน้ามาแปะให้ที่ข้อเท้าข้างซ้าย เป็นอันเสร็จพิธีกรรม 

แล้วเวลาที่ระทึกใจก็มาถึง รอไม่นาน น้องเจ้าหน้าที่ก็เรียกไปจ่ายเงิน ยอดออกมาที่ 5700 เยน น้ำตาแทบไหล รู้สึกกลับมาเป็นเศรษฐีอีกครั้ง น้องบอกว่าให้ไปรับยาที่ร้านยาข้างๆ นะคะ ส่วนนี่เป็นบัตรประจำตัวเอาไว้มาหาหมอครั้งหน้า จะเก็บไว้ก็ได้นะคะ แล้วก็ยิ้มๆ  เราเลยบอกว่า จะเก็บไว้เป็นที่ระลึกนะ แล้วก็ยิ้มให้กันในวันปีใหม่กันไป

ก่อนออกจากคลิกนิก คุณพี่ผมสั้นใส่แว่นคนเดิม (เสียดายที่จำชื่อพี่เค้าไม่ได้) แกเดินมาหา ถามว่าเรียบร้อยดีมั้ย เราพนักหน้า แล้วกล่าวขอบคุณแก แกเอามือตบหลังเราเบาๆ แล้วบอกว่า "คิโอสุเกตเตะ อิตเตรัชไช" (ดูแลตัวเองด้วย เดินทางดีๆ นะ) เป็นดรามาติกโมเมนท์แห่งวันไปเลย 

ยังไม่หมดเวรกรรม เพราะขั้นตอนต่อไปคือการไปซื้อยาที่ร้านยาข้างๆ ที่ญี่ปุ่นนี่จะไปซื้อยาส่งเดชไม่ได้ ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ก่อน ส่วนพวกยากะปริบกะปรอยทิฟฟ่งทิฟฟี่ นั่นไปซื้อตามร้านยาทั่วไปได้ เข้าไปร้านยารีแอ็คแรกของทุกคนเหมือนกับที่คลินิกเลย คือ พวกเราจะรับมือกับคนต่างด้าวยังไงดีคะรุ่นพี่ เราผู้ซึ่งชินแล้ว เลยส่งใบสั่งยาให้น้องเภสัชกร (สวยมาก เวรี่คาวาอี้) ได้เป็นยาแก้ปวด, ยาแก้เอฟเฟคต์จากยาแก้ปวด และกอเอี๊ยดหนึ่งแพ็คใหญ่ มีการปรินท์ใบอธิบายสรรพคุณว่ายาตัวไหนเป็นยังไง (อ่านไม่ออกค่ะ ภาษาญี่ปุ่น) โดนค่ายาไปอีก 1200 เยน ตัวเบาเรยยยยยยยยยยย

ออกจากร้านหมอมาแบบตัวเบา ขางี้เย็นเลย (เพราะว่าแปะกอเอี๊ยะอยู่) เดินกะเผลกกลับไปที่สถานีเหมือนเดิม แม้ตัวจะเจ็บ แต่เราจะไม่หยุดเที่ยว เดี๋ยวเจอกันที่โกเบ เย้



ปล. พอเขียนถึงก็เลยลองเสิร์ชดูว่าจะมีคลินิกคุณหมอโมริตะอยู่ในเน็ตมั้ย ปรากฏว่าเจอด้วย มีหน้าหมอโมริตะยิ้มแห้งๆ เด่นอยู่กลางเว็บเลย เข้าไปดูได้นะ http://shishinkai-moritaclinic.com/index.htmlhttp://shishinkai-moritaclinic.com/index.html

0 comments: