Once Ubon a time อุบลเป็นเมืองชิคๆ

3:47 PM NidNok Koppoets 0 Comments

Once Ubon a time อุบลเป็นเมืองชิคๆ 
(ธนชาติ ศิริภัทราชัย, 2558, สำนักพิมพ์แซลมอน)

[12/2015]


สมัยเรียนจะมีวิชาบังคับตัวหนึ่งของชาวเอกฟิล์ม ชื่อวิชา ภาพยนตร์ทดลอง (Experimental Film) ซึ่งเราเกลียดวิชานี้มาก เพราะนอกจากจะต้องดูหนังห่าอะไรที่ไม่รู้เรื่องแล้ว ยังต้องทำหนังส่งเป็นงานคู่ เราจับคู่กับสิวสิว เพื่อนอีกคนที่ก็ป่วยเรื่องการทำหนังพอกัน (ปัจจุบันมันเป็นโปรดิวเซอร์หนังโฆษณา) แล้วทำหนังมั่วๆ ขึ้นมาเรื่องนึง โดยใช้คำว่าทดลองเป็นข้ออ้าง สุดท้ายอาจารย์จึงให้เกรดซีสนองความมั่วของมึงกลับมาเป็นรางวัล โบกมือลาวิชานี้มาด้วยความคิดที่ว่า กูไม่เห็นจะได้ห่าอะไรเลย (ยกเว้นเกรดซี)

แต่ถ้าตัดความไม่ชอบทำหนังออกไป พอโตมาจึงค่อยๆ เข้าใจว่า ในกระบวนการทำหนังทดลองนั้น มันไม่ได้มีความมั่วเป็นที่ตั้ง (แม้ปลายทางของหนังจะดูมั่วมาก) มันผ่านการตั้งโจทย์ และออกแบบการเล่าเรื่องให้สนองต่อโจทย์นั้นๆ เป็นโปรเจ็คต์ส่วนตัวของคนทำหนัง ที่อยากเอาแต่ใจเล่าเรื่องแบบนี้อ่ะ เบื่อวิธีการเดิมๆ แล้วอ่ะ และอยากรู้อ่ะ ว่าด้วยวิธีแบบนี้ มันจะพาผู้ชมไปที่ไหน ผลที่ได้รับเป็นอย่างไร

ที่ร่ายมาทั้งหมด ก็เพื่อจะเข้าสู่บันทึกการอ่าน Once Ubon a Time อุบลเป็นเมืองชิคๆ ของนายธนชาติ จันทร์เขียว เพราะสำหรับเรา หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือทดลอง

มันเป็นหนังสือทดลอง ที่ไม่มั่ว เพราะแม้จะมีโจทย์เป็นการเสียดสีกระแสฮิปสเตอร์ มินิมอล คินโฟล์ค อย่างเป็นทางการ แต่มันก็ไม่มั่ว ไม่แบบฉาบฉวยตั้งป้อมด่า มันจับเอาสิ่งที่อยากพูด มากระแนะกระแหนอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ทำโปรดักชันเป็นอย่างดี ร้อยเรียงจนกลายเป็นรูปเล่ม (จนบางทีก็อยากถามว่า ทำไมมึงต้องทำขนาดนี้)

จากการเป็นเพื่อนมัน เคยทำงานกลุ่มเดียวกับมัน ดูหนังของมัน อ่านหนังสือของมัน เราพบว่า นอกจากความชิคๆ คูล ที่มีอยู่เส้นเลือดใหญ่ไหลเวียนไปทั่วร่าง ธนชาติยังมีความสนใจเป็นอย่างยิ่ง กับชนบทไทย วัฒนธรรมย่อยแถวชานเมือง เพราะไอ้พวกนี้แหละ คือความเป็นไทย ที่ไม่ถูกบรรจุไว้ในวัฒนธรรมกระแสหลักที่ประเทศนี้ใช้ส่งข่าวประชาสัมพันธ์ เป็นวีถีชีวิตที่มีอยู่ และจะยังไม่หายไปในเร็วๆ นี้แน่

หนังสือเล่มนี้ เลยเหมือนแซะทีเดียวได้นกสองตัว เพราะนอกจากจะแซะจนวงการฮิปสเตอร์สั่นสะเทือน จะเผื่อแผ่กิริยาแซะไปแถวตำบลหนองยายโหมด วัฒนธรรมผ้าสี ขูดต้นไม้ ดูลายมือ โดนมันแขวะหมด (ศัตรูมึงนี่เยอะมากจริงๆ)

เบ๊นเป็นคนช่างสังเกต และความช่างสังเกตของมันแพรวพราวอยู่ตามภาพและตัวอักษรที่มันเขียน เบ๊นมีความเป็นผู้กำกับ คือมันคิดไว้แล้วว่าตรงไหนจะต้องเล่ายังไง ด้วยน้ำเสียงแบบไหน ภาษาในเล่มนี้ที่มันเลือกใช้ จึงดัดจริตผิดจากความเป็นมันไปหลายช่วงตัว

เราชอบความรู้สึกครึ่งๆ กลางๆ เหมือนอยู่ในห้วงแห่งความคิดตลอดเวลาที่อ่าน อุบลในหนังสือเล่มนี้เป็นเมืองจริงที่เหมือนไม่มีอยู่จริง คือแม้เราจะคาดเดาไว้แล้วว่า กูจะต้องโดนไอ้เบ๊นมันหลอกแน่ๆ แต่พออ่านไปสักพัก เราจะเริ่มคล้อยตาม เดินตามตัวหนังสือไปเรื่อยๆ ก่อนจะเข้าสู่สเตจถัดไป คือ มันใช่เหรอวะ, มันมีจริงเหรอวะ, มันเขียนซะจริงจนกูเริ่มไม่แน่ใจแล้ว เราจะรู้สึกซ้ำๆ แบบนี้จนรู้ตัวอีกทีคืออ่านจบ และนั่งงงงวยไปอีกครู่ใหญ่ ว่าที่กูอ่านไปเมื่อกี๊มันคืออะไรกันแน่

เราชอบความแดกดัน ชอบความฝันถึงเมืองในฝันที่หาทางระบายออกได้ถูกที่ถูกทาง (แม้อาจจะโดนคนด่าว่ามึงไปหลอกเขาก็เถอะ) และบางช่วงก็เหมือนได้อ่านความคิดเห็นของไอ้คนเขียนอย่างตรงไปตรงมา ทั้งหมดนั้นถูกยำเละเทะในหนึ่งบทความ อยู่ที่ว่าเราจะถอดรหัสมันแบบไหน และพยายามทำความเข้าใจมันว่าไง

เพราะมันเป็นงานทดลองเนอะ จึงเป็นไปได้ว่าอาจจะมีคนไม่เกท แต่ถึงอย่างนั้น อารมณ์ขันที่สอดใส่ (สอดแทรกก็พอ...) เป็นระยะๆ ในหนังสือเล่มนี้ น่าจะเป็นสิ่งที่เก็บเกี่ยวออกมาได้ง่ายที่สุด และก้มหน้าก้มตาอ่าน ยอมให้ธนชาติมันกวนตีนเราอีกเป็นครั้งที่สามร้อยสิบเก้า...


ปล. ไม่รู้เข้าใจถูกรึเปล่า แต่บทสัมภาษณ์ The Right Light เหมือนธนชาติเขียนถึงตัวมันเอง มันอาจจะเป็นแบบนี้ตอนแก่ และรู้สึกว่าได้รู้จักมันมากขึ้นอีกนิดนึง แบบชิคๆ :)


0 comments: