สะใภ้จ้าว

7:29 PM NidNok Koppoets 0 Comments

สะใภ้จ้าว
(รจนา, พิมพ์ครั้งที่ 1 2510 สำนักพิมพ์รวมสาสน์, พิมพ์ครั้งที่ 5 2557, สำนักพิมพ์โพสต์บุ๊กส์)


จำได้ว่าแม่เคยเช่าเรื่องนี้มาให้อ่านสมัยที่ละครกำลังดัง อ่านหมดเลยทั้งนิยาย ทั้งเรื่องย่อละคร ตัวละครก็ดูแม่งทุกบททุกตอนจนแทบจะจำได้ เป็นละครที่ชอบมาก และรู้สึกว่ามันงดงามมากในทุกสิ่ง พอเห็นข่าวว่าจะเอาเรื่องนี้กลับมาทำใหม่ และให้พี่โป๊ป รับบทเป็นคุณชายรอง แม้จะค้านในใจเล็กน้อยว่าพี่โป๊ปต้องหยุดเล่นละครเป็นคุณชายได้แล้ว แต่ก็อดตื่นเต้นไม่ได้ เรื่องที่ชอบกับพระเอกที่ชอบนี่มันช่างเหมาะเจาะลงตัว เอานิยายกลับมาอ่านอีกทีดีกว่า

ไปตามหานิยายในงานหนังสือถึงสองครั้งแม่งหาไม่เจอ เข้าไปที่บูธสำนักพิมพ์พิมพ์ดับเบิลนายน์ เจอคุณลุงแก่ๆ นั่งเฝ้าอยู่เหงาๆ เราก็ถามคุณลุงถึงสะใภ้จ้าว คุณลุงบอกว่าหมดแล้ว และทางเจ้าของลิขสิทธิ์ก็ไม่ได้ให้ทางสำนักพิมพ์พิมพ์ต่อ ไม่รู้ว่าเจ้าไหนได้ไป แล้วลุงก็หันไปนั่งเหงาๆ เฝ้าร้านต่อ แม่งเป็นซีนที่เศร้ามาก

จนเพิ่งเมื่อวันก่อนนี่แหละ ที่ได้เห็นเล่มนิยายวางหราอยู่ในร้านหนังสือ พิมพ์ใหม่โดยสำนักพิมพ์โพสต์บุ๊กส์ แหงล่ะ จะทำเป็นละคร ยังไงนิยายก็ต้องพิมพ์ใหม่อยู่แล้ว แต่ไม่ชอบปกเวอร์ชั่นนี้เลย คุ้นๆ ว่าปกเก่าเป็นสีขาวๆ เรียบๆ ถือแล้วไม่เขิน แต่ปกรอบนี้สีม่วงเด่นมาเลย พร้อมด้วยถ้วยผอบน้ำอบน้ำปรุงแอนด์พวงมาลัยวางหรา โอว โคตรเชย ไม่กล้าถืออ่านในที่สาธารณะ 

เอาจริงถ้าให้เทียบตัวนิยายกับบทละครปี 2545 เราว่ายังไงก็ยังชอบบทละครมากกว่า มันมีรสชาติกลมกล่อมลงตัว สนุกและน่าติดตามมากว่า ถ้าไม่เทียบเรื่องความเฉพาะตัวของสื่อละครกับสื่อนิยายนะ ยังไงตัวเรื่องราวในบทละครมันเสริมเครื่องปรุงให้รสชาติมันหวือหวากว่าที่นิยายเล่าไปเยอะ ที่น่ารักสุดคือการผูกเอาความเป็นหนอนหนังสือของตัวละครในเรื่องมาเล่า ฉากโรแมนติกที่เป็นภาพจำหลายๆ ฉากถูกเล่าผ่านโควตจากหนังสือ หรือไม่ก็มีหนังสือเป็นส่วนเด่นในฉากเลย เช่นการบอกรักผ่านการอ่านนิทานเวตาล, หนังสือ บันเทิงทศวาร (Decameron) ในฉากจบของคู่พระ-นาง เป็นต้น อันเนี้ยมันน่ารัก มันละเอียด หาบทละครแบบนี้ในสมัยนี้ไม่ค่อยได้นะ ต้องมาลุ้นว่าเวอร์ชั่นปี 2558 จะเป็นยังไง 

กลับมาที่ตัวนิยาย ไม่ได้มีหนังสือเป็นตัวชูโรง หรืออะไรหวือหวาแบบนั้นเลย เข้าใจว่าสะใภ้จ้าวเขียนขึ้นมาเพื่อวิพากษ์ "ความจ้าว" ตามมุมมองของคุณสุภาว์ เทวกุล ผู้เขียน (นี่เดาเอาว่าอาจจะมีกลิ่นของเรื่องจริงปนมานิดหน่อย เพราะผู้เขียนเธอก็แต่งงานกับ มรว. เหมือนสาลินในเรื่อง) 

ความจ้าวในเรื่องถูกเมคฟันผ่านสาลิน นางเอกของเรื่อง ที่เอาจริงๆ เธอก็เป็นผู้ดีลูกครึ่ง คือคุณพ่อเป็นผู้ดีแต่คุณแม่เป็นชาวสวนเชื้อสายจีน เอาว่าก็เป็นชนชั้นกลางค่อนไปทางบนนั่นแหละ สาลินโตมากับตายายที่สวนเมืองนนท์ เลยแก่นเซี้ยว เป็นผู้หญิงหัวสมัย ต่างจากศรีจิตราพี่สาว ที่ก็พ่อแม่เดียวกัน แต่ดันไปโตกับคุณป้าที่อบรมกันแบบชาววัง ทำให้ศรีจิตรากลายเป็นผู้หญิงเรียบร้อย ไม่กล้ามีปากเสียง ใครว่ายังไงเธอก็ว่าตาม ไม่ออกเสียงแม้กระทั่งเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเองเต็มๆ อย่างการแต่งงาน 

ถ้าเทียบกับปริศนา สาลินก็คือปริศนา ค่อนไปทางสิรี ส่วนศรีจิตราคืออนงค์ อะไรแบบนั้นล่ะ 

ความจ้าว คือความเจ้ากี้เจ้าการ บงการและขีดเส้นทางเดินให้ชีวิตคนอื่นโดยไม่ถามเจ้าตัวสักนิดว่าเขาต้องการหรือไม่ ด้วยคติที่ว่า ผู้ใหญ่มองเห็นแล้วว่าแบบนี้ดี แบบนี้เหมาะสม เดินตามทางนี้ไปจะปลอดภัยที่สุด เหมือนอย่างที่เสด็จป้าจัดแจงหาคู่หมั้นให้ชายรอง ส่งต่อไปที่คุณป้าที่ก็คิดให้เลยว่าเป็นศรีจิตราน่าจะดีที่สุด โดยไอ้คนที่จะแต่งงานทั้งคู่ไม่ได้มีโอกาสปริปากเถียง

แถมความจ้าวยังกลัวเสียหน้า เมื่อชายรองเดินเข้าไปบอกว่าจะไม่แต่งงานกับคนที่ตนไม่รัก ความอิหลักอิเหลื่อในช่วงนั้นเกิดเพราะเสด็จป้าไม่ลงมือทำอะไรด้วยเพราะกลัวเสียหน้า เป็นภาระให้รุ่นหลานต้องจัดการกันเอง ซึ่งผู้เขียนก็หาทางลงเอยให้เรื่องจบลงแบบสลับคู่ บัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น

ความจ้าวคือความไม่ทันสมัย ยึดกับระเบียบวิธี และค่านิยมเดิมๆ เช่น หน้าที่การงานที่ดีคือการรับราชการ พอรู้ว่าชายเล็ก ไปทำงานบริษัทน้ำมันของพวกฝรั่ง กลับค่อนแคะว่าไม่มีเกียรติ ทั้งที่ได้เงินเดือนมากกว่าทุกคนในบ้านรวมกันเสียอีก ต่างจากสาลิน ที่หาทางเรียนและทำงานเพื่อยืนด้วยลำแข้งตัวเองได้ เป็นนิยายยุคนั้นที่มองว่าคุณค่าของคนอยู่ที่การทำงาน อะไรแบบนั้นแหละ

ความจ้าวอีกอย่างคือเจ้ายศจ้าวอย่าง การที่คนธรรมดาจะ level up ขึ้นไปร่วมวงศ์ด้วยนั้นไม่ง่าย เหมือนตัวจรวย นางข้าหลวงที่ดันไปได้ คุณชายโต พี่ชายพระเอก เป็นสามี คิดว่าจะได้อัพเกรดชีวิต แต่กลายเป็นว่าความทะเยอทะยานของเธอต้องแพ้ให้กับการเมืองในวัง จริงๆ ถ้าสาลินไม่ใช่น้องสาวของคู่หมั้นเดิมของคุณชายรอง หรือไม่ได้มีเชื้อผู้ดิบผู้ดีเก่า เรื่องคงไม่จบลงง่ายๆ 

อีกอย่างที่หนังสือผูกเอาไว้แต่คลายไม่สุด คือเรื่องของ พล เพื่อนที่ศาลาริมคลองของสาลิน ที่จริงๆ แล้วก็คือ "บดินทราชทรงพล" หรือคุณชายเล็ก พระรองของเรื่อง จำได้ว่าในบทละคร คุณชายเล็กจะออกแนวเป็นเพื่อนคู่คิดของสาลินมากกว่า ถ้าให้เทียบคงเป็นความสัมพันธ์แบบ นพกับปริศนา ที่คุยและปรึกษากันได้ทุกเรื่อง แต่ในนิยายดูเหมือนว่าจะวางให้ชายเล็กมีใจให้สาลินอยู่หน่อยๆ พอไปลงเอยกับศรีจิตรามันเลยแห้งๆ และยิ่งทำให้สงสารศรีจิตราหนักเข้าไปอีก เพราะขนาดตอนจะลงเอย เสียงในหัวเธอยังบอกแค่เพียงว่า เธอต้องการแค่คนที่จะมานำชีวิตเธอไปข้างหน้าเท่านั้น ไม่ได้พูดถึงความรักโรแมนติกอะไรแบบนั้นเลย

รวมๆ แล้วถึงจะรู้สึกว่ามันเป็นหนังสือที่เขียนเพื่อพูดเรื่องคุณค่าและความเท่ากันของมนุษย์ และเชิดชูความเป็นหญิง แต่ก็ยังมีบางอย่างที่ยังเป็นเรื่องของผู้ชาย อย่างในตอนท้ายส่วนคลี่คลายของเรื่อง จากเดิมสาลินที่เคยมีปากมีเสียง พอเป็นเรื่องตัวเองเข้าก็เงียบสนิท จ๋อยแดก จะได้แสดงออกเรื่องความรักและงานแต่งของตัวเองก็ไม่มี มันทิ้งไว้แบบห้วนๆ ยังไงไม่ทราบ และที่แน่ๆ พระเอกตัวจริงของเรื่องน่าจะเป็นคุณชายเล็กมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะอย่างไรคงต้องไปอ่านดู



0 comments: