Ashita, mama ga inai: คนถูกทิ้ง

6:41 PM NidNok Koppoets 0 Comments

Ashita, mama ga inai (2014, NTV, 3.5/5)


ก่อนจะดูอ่านข่าวก็ตกใจเหมือนกัน เพราะเห็นว่าซีรี่ส์เรื่องนี้โดนบอยคอตจากบรรดาสปอนเซอร์ ทำให้หลังจากตอนที่หนึ่งเป็นต้นมา ซีรีส์ฉายโดยไม่มีโฆษณาเลย ต้นเรื่องก็มาจากโรงพยาบาลจิเค (Jikei Hospital) โรงพยาบาลเดียวในญี่ปุ่นที่มีตู้ทิ้งเด็ก สำหรับพ่อแม่ที่ไม่พร้อมจะเลี้ยงลูก และบรรดาสมาคมบ้านเลี้ยงเด็กกำพร้าออกมาร้องเรียนว่า ภาพที่เห็นในซีรีส์นั้นทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อบ้านเด็กกำพร้า ทั้งยังมีภาพของความรุนแรงระหว่างผู้เลี้ยงเด็กที่เปรียบว่าเด็กๆ เป็นสัตว์ในร้านขายสัตว์ ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันไปทั่วเมือง

ความกดดันที่ว่าทำให้เหล่าสปอนเซอร์ถอนโฆษณาออกตั้งแต่ตอนที่สองของซีรีส์ แต่ผู้บริหารของช่อง NTV ยังยืนยันที่จะฉายต่อไปจนจบเก้าตอน ซ้ำยังย้ำว่า ถ้าผู้ชมได้ดูจนจบเก้าตอนก็จะรู้ว่าซีรีส์เรื่องนี้ต้องการจะสื่ออะไรกับสังคม

จริงๆ ดูไปถึงตอนที่สองก็พอจะมองออกแล้วแหละว่ามันต้องการสื่ออะไร และเรื่องมันก็ไม่ได้ร้ายแรงอะไรขนาดนั้น (หรือว่ามันเป็นระดับความชินชาต่อการรับรู้ความรุนแรงของคนไทยวะ) แต่ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจว่าจะมีฉากที่พูดว่าเด็กเป็นสัตว์ทำไมเหมือนกัน คือถ้าข้ามฉากนั้นไป มันก็เป็นดรามาเค้นๆ แบบญี่ปุ่นเรื่องนึง และก็ไม่ได้รู้สึกในแง่ลบกับสถานสงเคราะห์หรือการทิ้งเด็ก หรือเด็กที่ถูกทิ้งแต่อย่างใด ออกจะเข้าใจเหตุผลที่มาที่ไปของแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องแบบนี้มากขึ้นด้วยซ้ำ


ศูนย์กลางของเรื่องอยู่ที่ "โพซึโตะ" (Ashida Mana เด็กเซเลปของญี่ปุ่น) เด็กหญิงที่ถูกพ่อแม่ทิ้งเอาไว้ที่ตู้ทิ้งเด็ก (Post) จึงกลายเป็นชื่อเล่นของเธอที่บ้านโคกาโมะ (Kogamo no Ie) ตามธรรมเนียมที่แต่ละคนจะตั้งชื่อเล่นกันใหม่ แทนการเรียกชื่อเดิมอันเป็นบาดแผลสุดท้ายที่พ่อแม่มอบไว้ให้พวกเขา เป็นหนทางของการลืมอย่างหนึ่ง

โพซึโตะมีเพื่อนร่วมห้องอีกสามคน "เปียมิ" (Sakurada Hiyori) อดีตคุณหนูที่พ่อล้มละลาย มีความสามารถพิเศษทางเปียโน "บอมบิ" (Watanabe Konomi) เด็กหญิงที่ใฝ่ฝันจะได้ครอบครัวใหม่เหมือน "โจริพิ" (แอนเจลินา โจลี, แบรท พิตต์) และ "ดงกิ" (Suzuki Rio เด็กเซเลปอีกคน เล่นเรื่อง Woman ด้วย) แม่ของเธอติดคุกเพราะทำร้ายร่างกายแฟนใหม่ ในทุกตอน โพซึโตะจะวิ่งไล่ไปแก้ปัญหาให้กับเพื่อนๆ และพี่น้องร่วมบ้านโคกาโมะจนครบเก้าตอนตามสูตรซีรีส์ญี่ปุ่น เป็นยอดเด็กในอุดมคติ ว่าอย่างนั้นแหละ


ไอเดียของเรื่องต้องการจะสื่อสารว่า "เด็กกำพร้าต้องมีสิทธิ์ที่จะเลือกบ้านที่ตัวเองไปอยู่" เพราะโดยทั่วไป จะเป็นพ่อแม่ที่มีความต้องการอุปถัมภ์มาดูตัวเด็ก จากนั้นก็ไปทำเรื่องทางกฎหมายและเอกสารทั้งหลาย จากนั้นก็รับเด็กไปเลี้ยง ซึ่งสิ่งที่เรื่องนี้ต้องการจะบอกคือ สิ่งที่เด็กต้องการไม่ใช่แค่การมีครอบครัวครบหน้าพ่อแม่ลูก แต่พวกเขาต้องการคนที่พร้อมและยอมรับในตัวพวกเขาไม่ต้องร่ำรวย แต่ต้องเป็นบ้านที่พวกเขาต้องการจริงๆ

วิธีการของบ้านโคกาโมะ ก็เลยจะมีเจ้าหน้าที่จากศูนย์ให้คำปรึกษาเด็ก ทำหน้าที่พาเด็กๆ ไปทดลองใช้ชีวิตกับว่าที่ครอบครัวอุปถัมภ์ เริ่มจากไปเช้าเย็นกลับ เมื่อเข้าที่ก็จะให้เด็กได้ลองไปค้างคืน มีบางเคสในซีรีส์ที่ทำให้เราเห็นว่า พ่อแม่บางคู่ที่ดูเหมือนพร้อมรับเด็กไปอุปการะ จริงๆ แล้วก็ยังมีบางแง่มุมที่พวกเขารับไม่ได้ เคร่งเครียดกับเด็กเกินไป จนทำให้เด็กรู้สึกต่อต้าน

Ashita, mama ga inai ฉายภาพทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาเด็กกำพร้า ตั้งแต่พ่อแม่ที่ไม่พร้อมและทิ้งลูกตั้งแต่แบเบาะ, พ่อแม่ที่เลือกจะทิ้งลูกไว้แล้วไปใช้ชีวิตอย่างที่ตัวเองหวัง, ครอบครัวอุปถัมภ์ที่มีเหตุผลความต้องการเด็กแตกต่างกันไป แต่สุดท้ายก็คือเพื่อเติมเต็มความปรารถนาลึกๆ ของตนเองทั้งนั้น, บ้านเลี้ยงเด็กกับความใส่ใจในชีวิตและความเป็นอยู่, เด็กที่ไม่มีใครอุปการะ และก้าวต่อไปของชีวิตพวกเขาหลังบรรลุนิติภาวะ, การ Bully เด็กกลุ่มนี้ในโรงเรียน ฯลฯ เหล่านี้เราจะเห็นได้ผ่านตัวละครและสถานการณ์ที่พวกเขาเผชิญ

และอีกอย่างที่น่าชื่นชม และเราว่าเป็นจุดแข็งของละครญี่ปุ่นแทบทุกเรื่อง คือ แม้จะกำลังพูดถึงประเด็นที่เป็นปัญหาสังคม เป็นเรื่องหนัก หมักหมม ไม่ได้รับการแก้ไข แต่วิธีการเล่า และเนื้อเรื่องมันจะเล่าไปข้างหน้า บอกวิธีการแก้ปัญหา มากกว่าที่จะไปขยี้และซ้ำเติมให้ปัญหานั้นยิ่งบวมช้ำ กลับกัน การนำเสนอจะเป็นไปในทางที่ตั้งคำถามโยนไว้ แล้วชวนให้สังคมมาหาคำตอบร่วมกัน โดยที่เนื้อเรื่องมีบทบาทในการทำให้ผู้ชมเข้าใจปัญหาจากหลายแง่มุม ไม่ชี้นำในทางตัดสินใครหรือฝ่ายไหน ทุกฝ่ายมีเหตุผล ดี/เลว เท่าๆ กัน แม้ทางออกในเรื่องจะดูมองโลกในแง่งามจนน่าหมั่นไส้ไปบาง แต่อย่างน้อยผู้ชมก็ได้เรียนรู้บางอย่างร่วมกันไปแล้ว

ถ้าตัดเรื่องวิธีการเล่าที่อุดมไปด้วยซีนสั่งสอน และพึ่งพาการคลี่คลายปัญหาจากตัวละครที่เป็น Heroine แค่ตัวเดียว (คือโพซึโตะ) เรื่องนี้มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ ตอนหนึ่งที่พูดถึงบอมบิ เด็กที่ใฝ่ฝันจะได้ครอบครัวอุปการะอย่างโจลี่-พิตต์ จนเธอได้เจอครอบครัวหนึ่งที่มีโปรไฟล์ไม่แตกต่างจากโจริพิที่เธอฝันใฝ่ แต่กลายเป็นว่า ครอบครัวนี้กลับต้องการอุปการะเด็กชาย บอมบิจึงตัดสินใจตัดผมและปลอมตัวเป็นเด็กชาย เพื่อทำให้พวกเขาอุปการะเธอ ภาพในซีรีส์มันดูไม่แรงแหละ แต่ Situation นี้มันแรงและน่าสนใจมาก และการแสดงของน้อง Watanabe Konomi ทำได้โคตรดี ฉากอารมณ์ตอนที่จะต้องตัดใจจากครอบครัวนี้น้องทำไว้ดีมาก

ต่อเรื่องการแสดง มันต้องมีคำครหาอยู่แล้วว่าเด็กๆ เล่นแก่แดดกันจัง แต่เราไม่ได้รู้สึกว่าเด็กแสดงแก่แดด (คือเล่นเยอะ ดัดจริตจนน่ารำคาญ) แต่น้องแค่เล่นแก่ มันไม่น่ารำคาญ แต่เหมือนตัวละครไม่ได้อายุเท่านี้แค่นั้นเอง ซึ่งเราไม่ถือว่าการแสดงแบบนี้มันแก่แดด กับเด็กคนอื่นไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะเล่นสมวัย (น้อง Hiyori ท่าใหญ่ไปหน่อย) แต่บทโพซึโตะ ที่น้อง Ashida Mana เล่น มันดูแก่มาก โตมาก จนไม่แน่ใจว่ามันมีเด็กที่แบบความคิดใหญ่โตขนาดนี้อยู่จริงๆ เหรอวะ

คิดแง่นึง มันเป็นไปได้ว่าตัวละครโพซึโตะ ไม่ได้เติบโตมาในครอบครัวปกติ คือเธอเกิดมาก็อยู่ที่สถานสงเคราะห์เลย ได้รับการเลี้ยงดูจากซาซากิ (Mikami Hiroshi) ผู้ดูแลศูนย์ ถูกเลี้ยงแบบผู้ใหญ่คนนึง และบุคลิกความคิดความอ่านของเธอส่วนใหญ่ก็ได้รับมาจากซาซากิ จึงทำให้โพซึโตะเลียบแบบการ "โต" คือพยายามจะเป็นผู้ใหญ่ ลอกเลียนแบบการพูดจาแบบผู้ใหญ่ (มีบางตอนพูดถึงความเป็น "แม่" ในตัวเธอด้วยซ้ำ) ทำให้การแสดงของมานะจังออกมาเป็นแบบนั้น

กับอีกแง่ คือน้องเล่นแก่ไปเอง ผู้กำกับไม่ได้ตีความตัวละครไปลึกซึ้งเท่าไหร่เลย (555 ซึ่งหวังว่าไม่น่าจะเป็นแบบนั้น)

Miura Shohei ในบทล็อคเกอร์ คนดูแลบ้านสุดลึกลับ ชื่นชมเพราะหน้าดี ส่วนคาแรกเตอร์นี่ไม่แน่ใจว่าเป็นน้องชายของ L ใน Death Note รึเปล่า จะลึกลับพูดน้อยไปทำเพื่อ แต่ก็นั่นแหละค่ะ เป็นผู้ชายเราให้อภัยเสมอ


แม้ว่าเรื่องนี้จะฉายโดยไร้สปอนเซอร์มาตลอด 8 ตอนที่เหลือ (ซึ่งก็เห็นอย่างนั้นจริงๆ ว่าช่วงไตเติ้ลนี่เหงาเลย ปกติจะต้องมีเสียง "โคโน บังกุมิวะ ..." เรื่องนี้ไม่มีเลย) แต่ทางช่องก็ฉายต่อจนจบ แถมเรตติ้งก็ไม่ได้ขี้เหร่ เราว่ามันงดงามในแง่ของสังคมที่มีวุฒิภาวะแล้ว ภาคธุรกิจและประชาสังคมออกมากดดันว่าเนื้อหาของเรื่องนี้ไม่เหมาะสม ส่วนภาคธุรกิจก็เลยตอบโต้ไปอีกทีด้วยการไม่ซื้อโฆษณา  แต่เจ้าของคอนเทนท์ก็มั่นใจเหมือนกันว่าตัวเรื่องไม่มีพิษภัยและออกจะจรรโลงสังคมด้วยซ้ำ ก็ยืนยันฉายต่อไป ไม่ต้องมีหน่วยงานไหนมาบังคับให้เลิกฉายหรือตัดฉากไหนออกไป แล้วปล่อยให้คนในสังคมคิดเอง เลือกรับ และกลั่นกรองกันเองถึงความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม เป็นสังคมที่โตแล้วจริงๆ

จะว่าอะไรได้ เรายังอยู่ในประเทศที่คอยบอกว่าอะไรควรฉาย อะไรห้ามฉาย อะไรตัดออกอยู่เลย...



0 comments: