Enemy: เหนือการควบคุม

7:15 PM NidNok Koppoets 0 Comments


 Enemy (2013, Denis Villeneuve, A++++)



ดูจบแล้วอยากจะอุทานว่าอีกรวยกันใช่ไหมคะ
อิฉันอุทานไปแล้วค่ะ หยาบกว่านั้นอีก...

นี่ก็ว่าเข้าโรงไปด้วยความรู้สึกระแวดระวังประมาณนึงแล้วนะว่ามันต้องไม่ธรรมดาแน่ๆ พยายามเก็บทุกเม็ดไม่ให้หลุด แต่พอถึงตอนจบนี่ข้างในกรีดร้องออกมาเลยว่าบิดาท่านหรือคะ นั่งงงกงเต๊กอยู่ในโรงจนคนเดินออกไปหมดแล้วก็ยังงงอยู่ เดินสติหลุดพยายามปะติดปะต่อทุกสิ่งเข้าไว้ด้วยกัน ยิ่งคิดแม่งยิ่งมีหนทางความเป็นไปได้เยอะมาก จนเกือบจะรู้สึกว่ามันเป็นปลายเปิดแล้ว ให้คุณไปออกแบบตอนจบของเรื่องเอาเอง

แต่พอคิดไปคิดมามันไม่ใช่ว่ะ มันจบละ หนังที่ความยาว 90 นาที แล้วมอบชิ้นส่วนเรื่องราวที่เหมือนจะต่อกันบ้าง ห่างกันบ้าง แล้วจบไปแบบดื้อๆ ทิ้งให้เราเคว้งคว้างเหมือนกับยกเอาส่วนคลี่คลายทั้งหมดออกไป จริงๆ มันคลี่คลายได้ในตัวมันเองอยู่แล้ว แค่เราต้องนึกให้ออกให้ได้แค่นั้นแหละ แต่ถ้าขี้เกียจจะคิด เราจะเกลียดหนังไปเลย 

จากนี้ไปมีสปอยล์แน่นอนค่ะ 

---------------------------------------------------------------

เราว่ามันมีคำใบ้สำคัญอยู่สามอย่างที่หนังมอบให้แบบตรงๆ หนึ่งคือประโยคก่อนหนังเริ่ม "Chaos is merely order waiting to be deciphered : ความวุ่นวายคือความเป็นระบบระเบียบที่รอการถอดรหัส" สองคือเลคเชอร์ของอดัม เรื่องอำนาจในการ 'Control' รูปแบบต่างๆ ของเผด็จการ และสามคือประโยคต่อมาที่พูดถึงการเกิดขึ้นซ้ำๆ ของประวัติศาสตร์ไม่มีจบสิ้น มีการยกคำของ คาร์ล มาร์กซ์ "History repeats itself, first as tragedy, second as farce" ถ้าเราเกาะคำใบ้ทั้งสามนี้ไป เราจะได้แนวทางว่า เรื่องที่ดูเหมือนจะวุ่นวายจับจุดไม่ได้เนี่ย ที่สุดแล้วมันมีระเบียบของมัน ช่วงไคลแม็กซ์และส่วนคลี่คลายที่เหมือนจะหายไป จริงๆ แล้วไม่ได้หายไปไหนหากเราสามารถถอดรหัสที่ว่าได้ 

แม้หนังจะขึ้นคำใบ้เรื่อง Chaos ให้ตั้งแต่ต้นเรื่อง จนเรารู้สึกว่าต้องจับทางได้แน่ๆ แต่เอาเข้าจริงคือเราถูกทำให้ไขว้เขวในความเชื่อตลอดเวลา พอกำลังจะจับผิดได้ ฉากถัดมามันจะมากลบความเชื่อนั้นของเราไปเลย เราจะรู้สึกว่า โอเค เดี๋ยวขอดูต่อก่อน แล้วค่อยคิด ดูต่ออีกแป๊บนึง อีกแป๊บนึง แล้วก็ตึง! จบ นั่นแหละ ไอ้อาการตั้งหลักได้ตอนต้นเรื่องแม่งหายไปเลย ทุกอย่างต้องมาเริ่มใหม่หมด Denis Villeneuve แม่งโคตรเก่งที่ทำแบบนี้ได้ 


เมื่อเราเชื่อว่าความ Chaos ทั้งหมดนั้นจะถูกเรียบเรียงใหม่เป็นเรื่องเป็นราวได้แล้ว อย่างที่สองคือการคิดถึงคำว่า Control เรารู้สึกว่า Villeneuve จะสื่อสารว่าตัวเขาน่ะเป็นเผด็จการที่ว่า ตามในเล็คเชอร์ที่ตัวอดัมสอนนักศึกษา "เผด็จการจะจัดการควบคุมผู้คนให้อยู่ในปกครองด้วยวิธีต่างๆ บ้างก็มอมเมามอบความบันเทิง บ้างก็จำกัดการศึกษา จำกัดวัฒนธรรม จนทำให้ผู้คนเชื่อและยอมรับในเผด็จการได้" ผู้ชมต้องไม่อยู่ในอำนาจ Control ที่หนังพาไป ต้องไม่ยึดติดกับฟอร์มการเล่าจากองก์สู่องก์ตามขนบดั้งเดิม และเริ่มคิดใหม่ เพราะตราบใดที่เรายังถูกควบคุมด้วยฟอร์มของหนัง เราจะไม่มีวันเข้าใจหนังเรื่องนี้ได้ 

หนังเปิดเรื่องและเล่าเรื่องโดยมี อดัม ครูประวัติศาสตร์เป็น Protagonist เป็นตัวที่พาเราไปเจอเงื่อนงำต่างๆ จนกระทั่งได้พบกับแอนโธนี่ นักแสดงกิ๊กก๊อก ที่น่าจะเชื่อว่าเป็นดอพเพลเกเนอร์ (doppelganger) เป็นตัวเขาอีกคนหนึ่ง เราจะคิดตั้งแต่ว่าแอนโธนี่เป็นคนในจินตนาการ (แต่เอ๊ะทำไมเล่นหนังตั้งสามเรื่อง แถมมีคนทักด้วย), แอนโธนี่เป็นฝาแฝด (แต่เอ๊ะทำไมแม่บอกว่ามีลูกคนเดียว และฝาแฝดบ้าอะไรมีแผลเป็นเหมือนกัน) หรืออาจจะเป็นคนอีกคนนึงเลยแค่อดัมเห็นภาพหลอนเป็นหน้าตัวเอง (แต่มีภาพถ่าย และมึงจะหลอนอะไรทั้งเรื่อง) คือเราคิดไปได้หมด แต่เราก็จะเอ๊ะไปได้หมดเช่นกัน

 

ดังนั้น เมื่อหนังชี้นำเราด้วยการเล่าเรื่องผ่านอดัม การจะหลุดจาก control นี้ได้ก็ต้องลองคิดสวนทางกลับที่หนังเล่า โดยลดความเชื่อที่เอาอดัมเป็นตัวตั้ง มาดูทางฝั่งของแอนโธนี่แทน ซึ่งเราพบว่าแอนโธนี่มีความเป็นไปได้ที่จะ Exist อยู่จริงมากกว่าอดัม เช่น

- แอนโธนี่มีตัวตนอยู่ในหนังจริง ถ้าเสิร์ชชื่อเขาใน google ก็จะเจอประวัติและรูปภาพ

- มีฉากที่ออกแบบมาให้เห็นว่ามีคนรู้จักแอนโธนี่อยู่จริงๆ ทั้ง รปภ. และพนักงานที่อพาร์ทเมนท์ของเขา

- ในขณะที่อดัม แม้จะมีฉากที่แอนโธนี่และเฮเลนเสิร์ชหาชื่อเขา หนังก็จงใจหยุดกระบวนการเอาไว้แค่การเห็นชื่อในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย จริงๆ มันเป็นลิงค์ที่คลิกต่อไปได้ด้วย แต่หนังหยุดเอาไว้แค่นั้น ซึ่งจริงๆ เราเดาว่าเฮเลนต้องสืบค้นไปต่อ จนเจอความจริงบางอย่างที่ทำให้เธอไปมีสีหน้าหนักอึ้งมากในตอนที่เจออดัมที่มหาลัย

 -  ไม่มีฉากที่อดัมปฏิสัมพันธ์กับใครที่ยืนยันได้ว่าตอนนั้นเขาคืออดัม ฉากสอนหนังสือของเขาแบนราบด้วยการสอนแบบพูดอยู่คนเดียว เราเห็นภาพอดัมต่อหน้านักศึกษาเต็มห้องอยู่สองครั้ง และมันไม่ต่างกันเท่าไหร่ แต่อีกครั้งที่แปลกมากคือ ตอนที่อดัมเข้าห้องมาเพื่อสอนโดยในห้องว่างเปล่า เขาคุยโทรศัพท์กับแอนโธนี่แล้วเดินไปข้างนอก มหาลัยในฉากนั้นดูรกร้างและเงียบเกินกว่าที่เขาจะพูดตัดบทเฮเลนว่า "งั้นผมขอตัวเข้าไปสอนก่อน" ฉากนั้นทำให้เรารู้สึกว่าไอ้การเป็นครูของอดัมนี่มันไม่มีอยู่จริงยังไงไม่รู้ เป็นความหลอนระดับเดียวกับที่เห็น Russel Crowe ใน A Beautiful Mind คืออดัมอยู่ตรงนั้นจริงๆ สอนหนังสือจริงๆ แต่เด็กที่นั่งอยู่นั่นไม่มีอยู่จริงเลย 

- การปรากฎตัวของแมรี แฟนของอดัมมันไม่ปกติ คือเธอจะมาทุกตอนกลางคืน ในชุดเดิม มาเพื่อมีเซ็กส์กัน พอเสร็จแล้วเธอก็ลุกขึ้นแต่งตัวแล้วออกไป ครั้งที่แปลกมากคือตอนที่อดัมพยายามจะมีเซ็กส์กับเธอที่หลับไปแล้ว เธอไม่ยอมแล้วลุกขึ้นมาแต่งตัวออกไปกลางดึกมากๆ แบบนั้นเลย มันชวนให้เราคิดว่าเธอเป็นเหมือนวิญญาณ หรือเป็นภาพสุดท้ายที่จะกลับมาทำอะไรซ้ำๆ วนเวียนในหัวของอดัมเสมอ

- อีกอย่างคือทุกครั้งที่อดัมมีเซ็กส์กับแมรี เขาจะอยู่ข้างบนเสมอ 

เพราะฉะนั้น สำหรับเรา อดัมคือดอพเพลเกเนอร์ที่แอนโธนี่สร้างขึ้นมา เพื่อควบคุมความจริงบางอย่างที่เขารับมือไม่ได้ จุดเริ่มต้นของเรื่องน่าจะเป็นแอนโธนี่ที่คบกับแมรีอย่างลับๆ พวกเขานัดเจอกันที่โรงแรม พวกเขามีเซ็กส์กันโดยแมรีอยู่ข้างบน เธอจึงเห็นว่าที่มือของแอนโธนี่มีรอยแหวนอยู่ เธอโกรธและเป็นที่มาของอุบัติเหตุ สำหรับเราแมรีตายไปตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว ส่วนแอนโธนีรอดมาได้พร้อมแผลเป็นที่หน้าอก 


อีกความกดดันหนึ่งที่ผลักดันให้แอนโธนี่ต้องสร้างทางเพื่อหลบหนีโลกจริงคือเมียที่ตั้งท้อง ซึ่งก็น่าจะเกี่ยวกับแมงมุมทารันทูล่าที่โผล่มาในฉากเซอร์เรียลต้นเรื่องด้วย แอนโธนี่จึงมีอำนาจในการ Control ชีวิตของอดัมให้ซ้ำซากน่าเบื่อแบบนั้น มีเซ็กส์กับแมรีโดยอดัมอยู่ข้างบนและเป็นฝ่าย Control เพื่อควบคุมไม่ให้อดีตเกิดซ้ำอีก แมรีจะอยู่ข้างล่างระหว่างมีเซ็กส์และเธอจะไม่มีทางเห็นรอยแหวนที่นิ้วนั้นได้อีก

ชีวิตของอดัมอยู่ภายใต้การควบคุมจนกลายเป็นแบบแผน (order) มาตลอด จนมันเริ่มออกนอกความเป็นแบบแผน ตอนที่เขาเปิดหนังเรื่องนั้นดู และเริ่มเห็นตัวเองอยู่ในนั้น เขาปิดหนังแล้วจะเข้าไปมีเซ็กส์กับแมรีแต่เธอปฏิเสธ แต่ที่แล้วเป็นจิตใต้สำนึกของอดัมมากกว่าที่กำลังต่อต้านที่ควบคุม และหลังจากนั้นแมรีก็ไม่กลับมาอีกเลย 

(หลังจากตอนนั้นมันมีฉากที่แอนโธนี่ตามสตอล์คแมรีขึ้นรถเมล์ไปจนถึงที่ทำงาน เรากลับรู้สึกว่านั่นคือครั้งแรกที่เขาเจอเธอ และรู้สึกชอบ เพราะฉากนั้นเป็นตอนกลางวัน แต่แบบแผนการปรากฏตัวของแมรีจะเป็นตอนกลางคืน และมาแบบไม่มีที่มาที่ไป) 



อดัมหลุดออกจากวิถีชีวิตเดิม (ภาพต่อห้องที่เขาสอนก็เปลี่ยนไปด้วย) เขาไปตามหาและเริ่มเข้าใกล้ชีวิตแอนโธนี่มากขึ้น จนทั้งสองคนได้มาเจอกันที่ห้องในโรงแรมอันเป็นจุดเริ่มเรื่อง แอนโธนี่มีความตื่นเต้นที่ได้เห็นอดัม และพยายามชี้ให้อดัมเห็นว่าทั้งสองเหมือนกันจริงๆ (สังเกตจากตอนที่ถอดเสื้อดูแผลเป็นและขอดูมือ เพื่อจะดูรอยแหวนที่นิ้ว เห็นได้ว่าแอนโธนี่มีความหมกมุ่นกับเรื่องมือมาก) อดัมคือผลผลิตจากการ Control ที่แอนโธนี่ตื่นเต้น ส่วนอดัมนั้นหวาดหวั่น และคล้ายว่าเขาจะเริ่มรู้แล้วว่าเกิดอะไรขึ้น

แอนโธนี่เริ่มรู้สึกไม่ปลอดภัยเพราะอดัมชักจะไม่อยู่ในความควบคุมของเขา และเขาก็ยังมีร่องรอยของความเก่าๆ เหลืออยู่ เขาจึงไปบังคับให้อดัมยกสิ่งที่เป็น identity ของเขา ทั้งเสื้อผ้า รถ และแมรี่ เขาอยากเป็นคนที่เขาสร้างขึ้นเพื่อควบคุมเสียเอง เหมือนกับเข้าไปติดอยู่ในเส้นใยซับซ้อนที่ตัวเองสร้างขึ้น ซึ่งนำพาแอนโธนี่กลับเข้าสู่ลูปเก่า เขาไปพบแมรี่ มีเซ็กส์กัน เธอโกรธ เกิดอุบัติเหตุ กลายเป็นความรู้สึกผิด เช่นนี้ซ้ำๆ เวียนวนไปมา

แมงมุม 
แมงมุมคือตัวแทนของการ Control ทั้งรูปร่างของมันที่มีแปดขาและใช้การขยุ้ม/ครอบ เพื่อล่าเหยื่อ และแมงมุมมีใยที่เชื่อมต่อกันวกวนไปมา คือการย้ำเรื่องการเกิดขึ้นซ้ำๆ ของเหตุการณ์ แมงมุมเป็นสิ่งอยู่ในความกังวลใจของแอนโธนี่มาตลอด โลกในหัวของแอนโธนี่จึงมีแมงมุมยักษ์เดินอยู่ในเมือง 

อีกอย่างที่เราเห็นกับแมงมุมคือในฉากเซอร์เรียลตอนต้นเราเห็นแมงมุมตั้งท้องคลานออกมาจากถาด และมีเท้าผู้หญิงกำลังจะเหยียบ แมงมุมจึงก็หมายถึงผู้หญิง และผู้หญิงท้อง ซึ่งก็คือเฮเลนเมียของเขานั่นเอง 

ชีวิตของแอนโธนี่ถูกน่าจะ Control โดยผู้หญิงจนกลายเป็นความกดดันและกังวลใจ เขามีแม่ที่ดูเหมือนจะ Control กระทั่งความชอบหรือไม่ชอบทานอะไร (อดัมคือแอนโธนี่ที่กล้าบอกแม่ว่าเขาไม่ชอบทานบลูเบอรี๋) เขามีเมียที่กำลังท้องซึ่งจะเป็นภาระหนักอึ้งในอนาคต และเขามีแมรี่ที่ไม่ว่ายังไงก็ไม่สามารถสลัดความรู้สึกผิดที่มีออกไปได้ 


เพราะความกดดัน ความกังวล จึงเป็นเหตุให้แอนโธนี่มีอาการ Syndrome of subjective doubles คือการมองเห็นภาพหลอนเป็นตัวเองอีกคนหนึ่ง ที่มีคาแรกเตอร์แตกต่างออกไป เหมือนเป็นคนละคนโดยสิ้นเชิง อดัมคือภาพหลอนนั้นที่ถูกควบคุมโดยจิตใต้สำนึกของแอนโธนี่ แบบแผนที่ซ้ำซากในชีวิตของอดัมค่อยๆ ผ่อนคลายลง จนสุดท้ายเขาตัดสินใจเข้าไปสวมชีวิตเป็นแอนโธนี่ ฉากในตอนเช้าหลังคืนที่อดัมและเฮเลนมีเซ็กส์กัน คือการสวมทับและกลับไปเป็นแอนโธนี่อย่างเต็มตัว จดหมายที่อดัมไม่เคยกล้าเปิด ถูกเปิดออกมาและพบว่ามันคือกุญแจสู่คลับลึกลับเซอร์เรียลอันเป็นที่จุดเกิดของวังวนเดิม 

อดัมซึ่งกลายเป็นแอนโธนี่เดินไปบอกเฮเลนว่าจะออกไปข้างนอก (ซึ่งก็คือคลับนั่น) แต่เฮเลนที่เขาเห็นคือแมงมุมยักษ์ที่กำลังหวาดกลัวถอยหลังชนฝา แต่รีแอ็คของเขาต่อแมงมุมกลับเรียบเฉย ภาพแมงมุมที่เคยน่ากลัวและคุกคามในหัวของเขา กลายเป็นแมงมุมตัวใหญ่ที่สยบยอม อดัมในตอนนั้นอยู่เหนือการควบคุมทั้งหมด แอนโธนี่กลายเป็นเขา เป็นอดัมที่อยู่ในชีวิตของแอนโธนี่ 

แต่เราว่ามันจะไม่จบหรอก เพราะเมื่ออดัมไขกุญแจเข้าสู่คลับนั้นอีกครั้ง ลูปเดิมก็จะวนกลับมาใหม่ จิตใต้สำนึกที่รอคอยการซ่อมแซมและเติมเต็มจะกลับมาทำงาน และกลับมาวนเวียนซ้ำซากเหมือนดั่งประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ อย่างในเล็คเชอร์ที่เขาสอน การเกิดขึ้นครั้งแรกของประวัติศาสตร์เป็นเรื่องน่าเศร้า แต่อีกหลายครั้งต่อมาที่มันเกิดขึ้น มันน่าขำ เพราะเราไม่เคยเรียนรู้อะไรจากมันเลย

-------------------------------------------------------------------

คือที่คิดนี่ไม่ได้ว่าถูกเลยนะ เป็นการจับแพะชนแกะสุดๆ มีหลายจุดที่อยากจะไปดูซ้ำเพื่อความมั่นใจและเป็นไปได้เลยว่าอาจจะตีความออกมาเป็นอีกแบบเลย ซึ่งมันทำให้ Enemy มันเอบวกก็ตรงนี้ ความสนุกของมันคือหนังแค่บิดฟอร์มการเล่าเรื่องนิดหน่อย แต่ผลที่กระทบกับผู้ชมนี่เกิดเยอะเลย ต้องคิดเยอะ แล้วมันตอบโจทย์พล็อตความซ้ำซ้อน วังเวียน ได้โคตรดี 

เคยดูแค่ Prisoners (2013) ของ Denis Villeneuve แค่เรื่องเดียว แต่ก็โคตรชอบแล้ว แม่งเป็นหนังที่ยาวมาก แต่รักษาระดับความอึดอัดได้ตลอดทั้งเรื่องนี่ไม่ธรรมดา กับ Enemy ที่แม้จะสั้นกว่าเรื่องเก่าตั้งชั่วโมง แต่ Villeneuve สามารถทำให้โทนของหนังมันหลอน ร้าง และทำให้หนังอยู่กึ่งกลางระหว่างความจริงกับไม่จริงได้ นี่ก็พีคมากแล้ว 

ที่ชอบที่สุดรองจากบทที่มึงจะให้กูคิดเยอะไปไหน คืองานภาพโดย Nicolas Bolduc ที่ทำให้โตรอนโตแม่งเป็นเมืองร้างโคตรหลอนได้ เรานึกถึงฉากอนาคตของเมือง Los Angeles ใน Her (2013) ที่เรื่องนั้นก็เด่นเรื่องการทำให้เมืองเป็นส่วนหนึ่งของหนังอย่างแยบยล แต่ LA ใน Her ไม่ได้ถ่ายในสถานที่จริงทั้งหมดเสียทีเดียว มีบาง Landscape ที่ไปเอาเมืองเซี่ยงไฮ้มาใส่ด้วยซ้ำ แต่โตรอนโตใน Enemy นั้นถูกทำให้ร้างหลอนด้วยสถาปัตยกรรมที่แข็งทื่อเหมือนอยู่เกาหลีเหนือในฉากของอดัม และตึกหยักโค้งบิดเบี้ยวเวลาที่แอนโธนี่ปรากฏตัว 


การย้อมสีให้เหลืองหม่นๆ และภาพที่ช่วยเสริมพล็อตของความโยงใยเหมือนใยแมงมุมนั่นคือดีมากระดับสิบ


Jake Gyllenhaal ดีมาก เป็นบทที่น่าจดจำของเขาเลย Sarah Gadon ขโมยไปหลายฉาก แต่ดิฉันชอบเบ้าหน้าของ Mélanie Laurent จบ 


ไม่รู้จะไว้ตรงไหน
- Enemy ดัดแปลงจากนิยาย The Double ของนักเขียนรางวัลพูลิตเซอร์ José Saramago 
- เพลงประกอบที่เราเหมือนไม่ได้ยิน แต่จริงๆ แล้วมันซึมเข้าไปในโสตประสาทจนกลายเป็นความหลอนอึดอัดแล้วเรียบร้อย จัดการโดย Danny Bensi และ Saunder Jurriaans 

0 comments: