The Foreign Duck, the Native Duck and God in a Coin Locker

9:49 AM NidNok Koppoets 0 Comments

The Foreign Duck, the Native Duck and God in a Coin Locker, アヒルと鴨のコインロッカー 
(2007, Yoshihiro Nakamura, B+)
 


How many roads must a man walk down
Before you call him a man?...
How many seas must a white dove sail
Before she sleeps in the sand
The answer my friend is blowing in the wind
The answer is blowing in the wind...



ส่วนหนึ่งของเพลงที่เต็มไปด้วยคำถาม Blowing in the wind เพลงแห่งอิสรภาพที่กลายเป็นตำนานไปแล้วของ Bob Dylan และเราจะได้ยินเพลงนี้อีกหลายต่อหลายครั้ง ในหนังญี่ปุ่นที่มีชื่อแปลกและยาวมากเรื่องนี้ The Foreign Duck, the Native Duck and God in a Coin Locker "เป็ดเทศ, เป็ดบ้าน และพระเจ้าในตู้ล็อกเกอร์หยอดเหรียญ" ผลงานการกำกับของ Yoshihiro Nakamura (The Glorious Team Batista, The Booth) และสร้างจากนิยายที่มีชื่อเรื่องเดียวกัน เขียนโดย Isaka Kotaro 


เล่าเรื่องของมิตรภาพระหว่าง "ชีนะ" (Gaku Hamada) นักศึกษาใหม่ที่เพิ่งย้ายเข้ามาเรียนที่เมืองเซนได และเพื่อนบ้านข้างห้องของเขา "คาวาซากิ" (Eita) ผู้ที่แม้จะเพิ่งรู้จักกันได้ไม่นาน ก็ออกปากชวนชีนะให้ไปปล้นร้านหนังสือด้วยกัน โดยมีเป้าหมายคือพจนานุกรม "สวนคันจิ" เพื่อนำไปมอบให้กับเพื่อนข้างห้องอีกฟากหนึ่ง "ดอร์จิ" นักศึกษาหนุ่มชาวภูฏานที่ยังไม่ประสาภาษาญี่ปุ่นมากนัก และพจนานุกรมเล่มนี้ จะช่วยให้ดอร์จีเข้าใจความหมายของคำว่า เป็ดเทศ และ เป็ดบ้าน ในภาษาญี่ปุ่นได้


หลังเหตุการณ์ปล้นหนังสือ ชีนะได้รับรู้เรื่องราวระหว่างคาวาซากิ, ดอร์จิ และ "โคโตมิ" (Megumi Seki) อดีตแฟนของคาวาซากิที่กลายมาเป็นแฟนของดอร์จิ มิตรภาพระหว่างคนทั้งสามดำเนินไปด้วยดีจนกระทั่งถึงวันที่โคโตมิและดอร์จิ ได้ไปเจอกับแก๊งค์วัยรุ่นที่ตระเวนจับหมาแมวมาทารุณ โคโตมิขู่กลุ่มวัยรุ่นพวกนั้นว่าเธอจะเอาเรื่องนี้ไปบอกตำรวจ และจะไม่ปล่อยให้พวกเขาลอยนวลแน่ เหตุการณ์พลิกผันเมื่อมาถึงตรงนี้ และชะตากรรมของคนทั้งสามก็ไม่อาจเหมือนเดิมอีกต่อไป
 

นอกจากเหตุการณ์พลิกผันที่เกิดขึ้นในหนังจะทำให้เราต้องแปลกใจจะคอยติดตามเรื่องราวต่อไปเรื่อยๆ แล้ว หนังเรื่องนี้ยังเต็มไปด้วยฉากธรรมดาๆ และก่ออารมณ์สะเทือนใจและชวนให้เรากลับมาทบทวนและใส่ใจกับคำว่า "คนนอก - คนใน" ให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นผ่านตัวละครหลักของเรื่องที่ต่างก็มีความเป็น "คนนอก" กันในต่างแง่มุม คนนอกคือคนต่างชาติต่างภาษา, คนนอกคือคนต่างเมืองที่พูดกันคนละสำเนียง, คนนอกคือคนที่ทำตัวแปลกแยกและคิดต่าง ชะตากรรมของคนนอกที่หนังทำให้เราเห็นล้วนน่าเศร้า ดังเช่นหญิงอินเดียพูดประโยคเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพียงเพื่อจะขอความช่วยเหลือจากคนญี่ปุ่นที่ไม่มีสักคนเข้าใจความหมายของเธอ และยังบอกกับเธออีกว่า "อยู่ญี่ปุ่นก็พูดภาษาญี่ปุ่นสิ”

ประเด็นรองที่ช่วยเสริมให้ประเด็นหลักของหนังแข็งแรงมากขึ้น เป็นเรื่องของแก๊งค์วัยรุ่นที่ออกตระเวนทำร้ายทารุณหมาแมวตามท้องถนนด้วยความคึกคะนอง สัตว์ที่ไม่รู้เรื่องโดนจับใส่ถุงแล้วถูกไม้เบสบอลฟาดและมันก็ส่งเสียงร้องขอชีวิตจนถึงลมหายใจสุดท้าย แน่นอนที่เรื่องราวเหล่านี้ย่อมสร้างอารมณ์สะเทือนใจให้คนดูแม้เราจะไม่ได้เป็นคนที่รักสัตว์มาจากไหน แต่ยังหนังพาเราไปไกลกว่านั้น ด้วยการตั้งคำถามให้เราคิดต่อว่า "เราจะแค่สะเทือนใจกับเหตุการณ์นั้น หรือจะทำอะไรซักอย่างเพื่อความถูกต้อง" หรือพูดแบบชัดๆ ก็คือ "เรากล้าที่จะเอาชีวิตของเรา ไปแลกกับชีวิตของสัตว์เหล่านั้น เพื่อทำให้มันถูกต้องไหม" 

ถ้าคุณเดินไปเจอหมาแมวกำลังถูกทำร้าย และคนพวกนั้นก็พร้อมที่จะทำร้ายคุณเช่นกันหากว่าคุณไปทำให้เรื่องมันใหญ่ด้วยการไปแจ้งตำรวจ เมื่อถึงตรงนั้น เราอาจจะทำให้มันง่าย ด้วยการเดินจากไป แล้วพยายามลืมสิ่งที่เห็น หรือเราจะเข้าไปเผชิญหน้า ปกป้องความถูกต้อง แม้จะไม่รู้เลยว่าเรากำลังเอาชีวิตไปเสี่ยงกับอันตราย มันคุ้มไหมที่จะแลกชีวิตเรากับคนที่ถูกมองว่าเป็นเพียงตัวประกอบของสังคมเท่านั้น
 

เราไม่จำเป็นต้องตอบคำถามตอนนี้หรอก เพราะมันไม่มีคำตอบใดจะถูกต้องจนกว่าวันที่เราจะได้เผชิญกับเหตุการณ์นั้น ขึ้นมาจริงๆ และเมื่อถึงเวลานั้น เพลงของบ็อบ ดีแลน จะดังขึ้นอีกครั้ง
 

The answer my friend is blowing in the wind
The answer is blowing in the wind...
คำตอบนั้นลอยอยู่ในสายลมไง, เพื่อนเอ๋ย
คำตอบนั้น...ลอยอยู่ในสายลม



0 comments: